การมอบสินสอด เป็นประเพณีที่คนไทยปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ในทางกฏหมายไม่มีการบังคับว่าต้องให้ “สินสอด” ซึ่งฝ่ายชายจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ … ตรงกันข้ามกับ “การหมั้น” ในทางกฏหมาย การหมั้นจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อฝ่ายชายได้มอบ หรือ โอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้กับฝ่ายหญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสหรือแต่งงานกับผู้หญิงคนนั้น แต่ก็ไม่มีการบังคับให้หมั้นอยู่ดี จะหมั้นหรือไม่หมั้นก็ได้ สามารถข้ามไปจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้ ในบทความนี้ WeddingReview มาคลายความสงสัย ในประเด็นของ สินสอด และ ของหมั้น ที่มีการพูดถึงมาตลอดในโลกอินเตอร์เน็ตของหนุ่มสาวชาวไทย ทั้งความสงสัยที่ว่า สินสอด จะทำให้คนเลิกกัน, สินสอดมีไปทำไม ทำไมต้องมี ทำไมต้องมาบังคับกัน และ สินสอดเท่าไหร่ ถึงเรียกว่าเหมาะสม ไม่น่าเกลียด จะให้สินสอดเท่าไหร่ดี
เรามีตัวอย่างสินสอดจริง ๆ ของทีมงาน WeddingReview และเจ้าสาว รวม 7 ท่าน มาบอกกันแบบหมดเปลือกค่ะ ว่าได้สินสอดเท่าไหร่ หรือ ให้สินสอดเท่าไหร่ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับคู่บ่าวสาวที่กำลังจะแต่งงานและสงสัย ว่าจะมอบสินสอดให้เท่าไหร่ดีค่ะ
สินสอด คืออะไร ให้เท่าไหร่ดี เรียกว่าเหมาะสม
สินสอด คืออะไร ในทางกฏหมาย ต่างกับ ของหมั้น อย่างไร
ตามที่กล่าวไปข้างต้น ไม่มีการบังคับทางกฏหมายว่าต้องหมั้นก่อนแต่ง หรือ ต้องมอบสินสอดค่ะ แต่ถ้าหากคิดจะหมั้น ก็ต้องมีการมอบของหมั้นเรียบร้อยถึงจะเรียกว่าการหมั้นเสร็จสมบูรณ์ ของหมั้นทางกฏหมายหากจะให้สมบูรณ์ ต้องมอบให้เสร็จเรียบร้อยถึงจะเรียกกว่าการหมั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว เช่น โอนทรัพย์สินเป็นชื่อเจ้าสาว หรือ มอบของให้เรียบร้อยไม่เอาคืน … แต่สินสอดเป็นเรื่องของประเพณีค่าน้ำนม หากจะมอบสินสอด คือ มอบให้พ่อแม่ของฝ่ายหญิงค่ะ สรุปอีกครั้งนะคะ
- ของหมั้นมอบให้เจ้าสาว
- สินสอดมอบให้พ่อแม่เจ้าสาว
- การสมรส คือ จดทะเบียนสมรส
บางคนคิดว่าให้สินสอดและของหมั้นแปลว่าแต่งงานกันแล้ว คำตอบคือไม่ใช่ค่ะ ต้องจดทะเบียนสมรสถึงจะเรียกกว่าแต่งงานกันแล้วสมบูรณ์มีผลทางกฏหมายค่ะ
สินสอด ให้เท่าไหร่ เรียกว่าเหมาะสม
ทีนี้พูดถึงตัวอย่างสินสอด กันบ้าง ว่าให้เท่าไหร่เรียกว่าเหมาะสม แต่ละคนได้ไปเท่าไรบ้าง ทีมงาน WeddingReview มีข้อมูลมาแบ่งปันแบบหมดเปลือก ขอเอาเรื่องจริงของตัวเอง เพื่อน ๆ และ คนรู้จัก ที่อนุญาตกันมาแล้ว แต่ขอไม่บอกชื่อจริงนามสกุลจริง มาแชร์ให้ดูว่า อาชีพไหน ได้สินสอดกันมาเท่าไหร่บ้าง หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการ คำนวณสินสอด สำหรับว่าที่เจ้าบ่าวในอนาคตค่ะ
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของเรา ความคิดเห็นของเราคือ สินสอด ของหมั้น จะให้เท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับหน้าตาทางสังคม ให้สมน้ำสมเนื้อ ไปตามสถานะทางสังคมของทั้งสองฝ่าย
ตัวอย่าง สินสอด ของเจ้าสาว 7 ท่าน
- เคสที่ 1 เจ้าสาวเป็นพนักงานบริษัทเอกชน แม่เจ้าสาวทำธุรกิจ คุณพ่อเป็นผู้บริหาร คุณตาเป็นข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น ส่วนเจ้าบ่าวเป็นหมอ พ่อแม่รับราชการ สินสอด ประกอบด้วย เงินสด 800,000 บาท ทอง 10 บาท โฉนดที่ดิน (โฉนดให้ปากเปล่า ไม่ได้โอนเป็นชื่ออย่างเสร็จสมบูรณ์)
- เคสที่ 2 เจ้าสาวทำธุรกิจรับถมที่ดิน เจ้าบ่าวเป็นพนักงานออฟฟิศ ครอบครัวเจ้าบ่าวเป็นข้าราชการ สินสอด เป็น เงินสด 3,000,000 บาท ทอง 40 บาท และ แหวนเพชร
- เคสที่ 3 ครอบครัวเจ้าสาวทำธุรกิจขายปลีก–ส่ง เจ้าบ่าวครอบครัวมีธุรกิจ คุณพ่อเป็นผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ สินสอด ได้เงินสด 1 ล้านบาท ทองจำนวนหนึ่ง โฉนดบ้าน
- เคสที่ 4 เจ้าสาวเป็นพนักงานออฟฟิศ บ้านเจ้าสาวทำธุรกิจส่วนตัว เช่น โรงแรม และ ขายสินค้าอุปโภคบริโภค เจ้าบ่าวเป็นพนักงานออฟฟิศ สินสอด เงินสด 1 ล้านบาท และ ทอง 5 บาท
- เคสที่ 5 เจ้าสาวเป็นพนักงานออฟฟิศ จบโทต่างประเทศ เจ้าบ่าวทำธุรกิจของที่บ้านเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ สินสอด ได้เงิน 2 ล้านบาท เครื่องเพชร ทอง
- เคสที่ 6 เจ้าสาวเป็นเจ้าของธุรกิจร้านค้า เจ้าบ่าวมีธุรกิจรีไซเคิล สินสอดได้เงินสด 2 ล้านบาท ทอง 10 บาท รถเบ๊นซ์มูลค่า 5 ล้านบาท
- เคสที่ 7 เจ้าสาวขายของมีแผงร้านค้าในตลาด เจ้าบ่าวเช่นกัน สินสอดได้เงิน 300,000 บาท และ ทอง 5 บาท
ทีนี้พูดถึงเรื่อง สินสอดเท่าไหร่ เรียกว่าเหมาะสม
- เจ้าสาวเคสแรกกระซิบมาว่า คนรอบตัวได้สินสอดมากกว่านี้ แต่ที่บ้านไม่ติดขัดอะไร ไม่แคร์เรื่องหน้าตา เพราะพ่อแม่เป็นคนชิล ๆ และไม่ได้เดือดร้อน พ่อแม่บอก แต่งงานได้ไม่เลิกกัน หลังแต่งงานเลี้ยงดูกันเอง สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง ไม่ต้องมาขอเงินพ่อ ขอเงินแม่ก็พอละ
- บางเคสบอกว่า ให้เท่าไรก็เท่านั้น คือ เจ้าบ่าวจัดแจงมาเอง เป็นเรื่องของหน้าตาเสียมากกว่า คือ ถ้าฝั่งเจ้าบ่าวมีมากกว่า เจ้าสาวก็ไม่ติดขัด และ ให้เจ้าสาวเยอะเป็นหน้าเป็นตากับครอบครัวเจ้าบ่าวเองโดยที่เจ้าสาวไม่ได้ร้องขอ คือให้เท่าไรก็เท่านั้น
- บางเคสบอกว่า ก็ให้ตามที่รู้สึกว่าบ้านอีกฝ่ายจะไม่รู้สึกเสียหน้า รักษาหน้าตาให้กับครอบครัวทั้งสองฝั่ง
ซึ่งก็นั่นแหละค่ะ สรุปว่า เรื่องสินสอด ของหมั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จริง ๆ แล้วทางกฏหมายไม่ได้บังคับว่าต้องให้สินสอด เป็นเรื่องของประเพณีและความสมน้ำสมเนื้อเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วน “ของหมั้น” ทางกฏหมายก็ไม่ได้บังคับว่าต้องมีการหมั้น เพียงแต่ถ้าจะให้การหมั้นสมบูรณ์ ก็ต้องมีการมอบหรือโอนสิ่งของหรือทรัพย์สินเป็นชื่อเจ้าสาวถึงจะเรียกว่าการหมั้นสมบูรณ์ การหมั้นเป็นเหมือนการสัญญาว่าจะแต่งงานกับคนนี้แน่นอน
แต่ถึงจะหมั้น หรือ มอบสินสอด ก็ไม่ได้แปลว่าแต่งงานกัน การแต่งงานที่เสร็จสมบูรณ์ ต้องจดทะเบียนสรส ถึงจะเรียกว่าเป็นคู่สามีภรรยากันทางกฏหมาย ซึ่งจากประสบการณ์ของทีมงาน WeddingReview และเพื่อน ๆ คนรู้จัก … สินสอดจะได้เยอะหรือน้อย ก็ไม่ได้แปลว่าคนจะเปลี่ยนไป คุณก็คือคุณคนเดิม อาจจะดีใจตอนแต่งงาน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีความสุขตลอดไป จนชีวิตหลังจากแต่งงานขึ้นอยู่กับการปรับตัวเข้ากันได้ ดูแลตัวเองได้ทั้งคู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่น สินสอดไม่ใช่ตัวการันตีว่าจะทำให้คนหย่ากันหรือรักกันต่อในอนาคต แต่ถ้าไม่สมน้ำสมเนื้อสำหรับบางครอบครัวก็อาจส่งผลต่อการแต่งงานได้
สำหรับ คู่บ่าวสาวที่กำลังหาข้อมูลสินสอด เราหวังว่าทุก ๆ ท่านจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ไปกัน และ คลายข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับ “สินสอด” เท่าไหร่ เรียกว่าเหมาะสม ได้นะคะ
คุณอาจสนใจ
- คอร์สเรียน Wedding Review คู่มือจัดงานแต่งงาน
- สินสอด
- ขันหมาก
- พิธีแต่งงาน
- พิธีหมั้น
- ขันหมาก 19 คู่ มีอะไรบ้าง?
- ขันหมาก มีอะไรบ้าง (พานขันหมากสมัยปัจจุบัน)
- พานขันหมากงานแต่ง มีอะไรบ้าง?
- การจัด “ขันหมาก” และการแห่ขันหมาก ในพิธีแต่งงานไทย