เป็นดราม่ากันทุกปี กับการจัดงานแต่งงาน (หรือไม่จัดงานแต่งงาน) ที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวอาจจะสบายใจ แต่ว่าพ่อแม่ หรือ คนข้างบ้านอาจจะไม่สบายใจ สาเหตุหลัก ๆ มักจะมากับประเด็นที่ว่า “จัดงานแต่งงานให้เหมาะสม และสมฐานะ” แต่ความเหมาะสมนั้นเอาอะไรมาวัดกันล่ะ? หรือแม้กระทั่งประเด็นที่กำลังมาแรงตอนนี้ “ไม่จัดงานแต่งงาน ผิดธรรมเนียม ทำให้พ่อแม่อาย” และ WeddingReview ก็มีคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดงานแต่งงาน ทำไมไม่ควรเป็นหนี้ มาฝากทุกท่านค่ะ
ปัญหา ประเด็นดราม่างานแต่งงาน ที่มักพบในสังคมไทย
จากการที่เขียนบทความเกี่ยวกับการจัดงานแต่งงาน เป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่แต่งงานและเริ่มต้นมีครอบครัว ทีมงาน WeddingReview มักพบว่า ปัญหาในการจัดงานแต่งงานและเรื่องราวการแต่งงานมักมีดังนี้
จัดงานแต่งงานให้เหมาะสมจนเป็นหนี้
ด้วยความที่ต้องคำนึงถึงหน้าตา หรือ ป้องกันคนในหมู่บ้าน หรือ คนรู้จักของครอบครัวติฉินนินทา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการกดดันจากทางบ้านและครอบครัว ทำให้คู่บ่าวสาวต้องกู้หนี้ ยืมสิน นำเงินเก็บที่อยากเอาไปใช้ทำอย่างอื่นมาจัดงานแต่งงานเพื่อให้คนพอใจ เป็นเรื่องหนักอกสำหรับเจ้าสาวเจ้าบ่าวบางคู่ แต่หากไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะกลัวพ่อแม่น้อยใจ หรือ กลัวคนรู้จักพ่อแม่จะว่าพ่อแม่อีกที กลัวเป็นที่นินทาของชาวบ้าน
หากทำตามใจตัวเอง แต่ไม่ตามใจพ่อแม่ แล้วชีวิตคุณจะมีความสุขหรือไม่?
วิธีเลี้ยงดูและการปฏิบัติระหว่างพ่อแม่ลูกนั้นมีหลายแบบ บางบ้านเป็นแบบประชาธิปไตย รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน บางบ้านเป็นแบบเผด็จการ ลูกต้องทำตามคำสั่งพ่อแม่เท่านั้น ในขณะที่บางบ้านก็ละทิ้งไม่สนใจลูกเลย
มองดูดีดี เจ้าบ่าวเจ้าสาวที่มาปรึกษา WeddingReview เรื่องนี้ เรามักจะถามกลับว่า … แล้วถ้าคุณไม่ทำตามใจพ่อแม่ คุณจะมีความสุขหรือรับสภาพกับความคิดที่เห็นต่างได้หรือไม่? เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องส่วนครอบครัวที่เราก็ตัดสินใจให้ไม่ได้ ส่วนตัวเจ้าสาวหรือเจ้าบ่าวเองนั้นก็ต้องลองคิดดูว่าถ้าหากขัดใจพอแม่ จะรับกับสภาพหรือคำพูด หรือผลที่ตามมาได้หรือไม่
มองไปลึก ๆ แล้วปัญหานี้เหมือนไม่ได้เป็นปัญหาของคู่บ่าวสาวโดยตรง แต่เป็นปัญหาของพ่อแม่กับคนรอบตัวท่านมากกว่า ถ้าหากมองในมุมของความรักและความเห็นใจ มองดูว่าปัญหาของท่านคืออะไร ท่านถึงจำเป็นต้องให้เราทำแบบนี้ ก็อาจจะทำให้พ่อแม่ลูกเข้าใจกัน เพราะว่าสมัยนี้พ่อแม่แก่แล้วนั่งอยู่แต่บ้าน บทจะทนฟังแต่คนนินทา นั่งอยู่แต่ในบ้านคิดซ้ำไปซ้ำมา เจอคำพูดซ้ำไปซ้ำมาก็คงจะไม่ไหว
แนวทางการแก้ปัญหา
แต่ถ้าถามทีมงานเรา วิธีแก้ปัญหาจริง ๆ แล้วอยู่ที่จิตใจเราแต่ละคนมากกว่า ว่าเราสบายใจกับการทำแบบใด ก็ทำในทางที่สบายใจเสียเถิด สิ่งสำคัญคือเราควรจะดูแลจิตใจของเราให้มีความสุขมากกว่า (และดูแลเรื่องหนี้งานแต่งงานด้วยนะ)
กรณีที่ต้องเป็นหนี้จริง ๆ ต้องทำอย่างไร
งานแต่งงานนี้เพื่อใคร? หากเป็นงานแต่งงานสำหรับแขกพ่อแม่ และคู่บ่าวสาวไม่สามารถรับผิดชอบเงินค่าจัดงานในส่วนนี้จริง ๆ อาจจะต้องคุยกับพ่อแม่ ว่าจะหากทางออกอย่างไร มีใครเต็มใจช่วยออก ช่วยให้กู้ยืม หรือ สามารถเลื่อนหรือชะลองานแต่งงานไปได้หรือไม่ เพื่อให้คู่บ่าวสาวสะสมเงินได้มากพอ
แต่การเป็นหนี้นั้นเป็นวิธีที่ WeddingReview ไม่แนะนำจริง ๆ
ไม่จัดงานแต่งงานผิดหรือไม่?
การจัดงานแต่งงานหรืองานเลี้ยงฉลอง แม้ว่าจะเป็นการประกาศว่าเป็นคู่ผัวตัวเมียกัน แต่การจะเป็นตัวจริงได้นั้น ต้อง “จดทะเบียนสมรส” นะ
- จดทะเบียนสมรสก่อนจัดงานแต่งงาน น่าเกลียดหรือไม่?
- การจดทะเบียนสมรส (แถมเล่าประสบการณ์)
- การจดทะเบียนสมรส
- จดทะเบียนสมรส เปลี่ยนนามสกุล ทำบัตรประชาชน ย้ายทะเบียนบ้าน ควรทำอะไรก่อนหลัง?
- พิธีหมั้นคืออะไร? จำเป็นต้องมีไหม?
การแต่งงานเป็นประเพณี ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถึงสมัยนี้จะเปลี่ยนหรือปรับไปบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องของความงดงามทางประเพณีนับถือปฏิบัติ คนสมัยก่อนถ้าพูดเป็นภาษาวัยรุ่นก็คือ รับไม่ได้กับการฉุดชิงลักพาตัวไปเป็นภรรยา สมัยก่อนนั้นเป็นอย่างนี้จริง ๆ รุ่นทวด คนเกิดปี 2478 อะไรประมาณนั้นก็ยังมีการฉุดการปล้นอยู่ แต่ถ้าจะย้อนประวัติศาสตร์ที่แทบจะไม่ต้องหาอะไรมาอ้างอิง การฉุดชิงและฆ่าฟัน ต่อสู้ เพื่อนำหญิงมาเป็นภรรยานั้นมีมาแทบทุกประเทศ จึงมีการเกิดประเพณีการบอกกล่าว สู่ขอ หรือ ขอแต่งงาน เพราะว่าหญิงบางคนนั้นก็ไม่เต็มใจที่จะไปเป็นภรรยาของคนที่ฉุดชิงเราไปจากครอบครัว
สมัยนี้ ความเป็นอยู่ของคนเปลี่ยนไป จะให้สู่ขอแบบสมัยก่อนบางคนก็ว่าไม่พอ ต้องเลี้ยงฉลองใหญ่โต มีการตกแต่งในแบบที่งานแต่งงานสมัยก่อนนั้นไม่ต้องมีใหญ่ขนาดนี้ ไม่ต้องเชิญแขกเยอะขนาดนี้ แต่กลับเอาไปเทียบกับประเพณีการแต่งงานสมัยก่อนที่ไม่มีงานปาร์ตี้ละลายเงิน จะว่าไปคนที่น่าสงสารก็คือบ่าวสาวนั่นล่ะ เพราะคนเราก็สะดวกไม่เท่ากัน มัวแต่แคร์คนอื่น แล้วต้องเป็นทุกข์เป็นหนี้ทีหลัง อันนี้ก็ต้องเลือกเอา
คนเงินเดือนระดับ 20,000 – 40,000 บาท ไม่ควรใช้งบในการจัดงานแต่งงานเกินเท่าไร?
ทีมงาน WeddingReview เคยคุยกับเจ้าบ่าวท่านหนึ่ง (ไม่ประสงค์จะเอ่ยนาม) ที่มาปรึกษาเราเรื่องการจัดงานแต่งงาน และแม้ว่าสุดท้ายแล้วเขาจะจัดงานแต่งงานตามใจพ่อแม่ แต่ก็ได้เปิดใจกับเราว่า ถ้าจากประสบการณ์การแต่งงานของตัวเขาเอง (อ่านให้ดีดีนะ เงินเดือนระดับ 20,000 – 40,000 บาท) ถ้าย้อนเวลากลับได้ ก็คิดว่า ควรจะใช้งบจัดงานแต่งงาน 10 – 20 เท่า จากเงินเดือน (คูณกับเงินเดือน) ไม่ควรเกินจำนวนนี้ ขึ้นอยู่กับเงินเดือนและความสามารถของแต่ละท่านอีก อย่างเช่น ถ้าหากเงินเดือน 40,000 ก็ควรจะจัดงานให้อยู่ภายในงบ 400,000 – 800,000 บาท เพราะจะให้คิดตามงบประมาณ หักตามค่าใช้จ่ายคงไม่พอกับความต้องการของคนที่บ้าน … การดูว่าเรามีความสามารถในการรับผิดชอบหนี้เท่าไรนั้นอาจจะเป็นทางออกมากกว่าสำหรับคนที่มีงบประมาณจำกัด บางทีนั้น งบ 400,000 บาท ก็ยังไม่พอกับโรงแรมที่พ่อแม่อยากได้ และแขกที่พ่อแม่อยากเชิญเสียด้วยซ้ำ (อันนี้พูดในแง่มุมที่กรณีของความสามารถในการรับผิดชอบหนี้ กับความต้องการของที่บ้านไม่ตรงกัน และใจจริงแล้วตัวเจ้าบ่าวเองมีความต้องการอย่างไรถ้าหากย้อนเวลากลับไปได้) ส่วนเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่เงินเดือนมากกว่านี้ ระดับ 100,000+ ไม่ต้องคูณให้เสียเวลา เพราะความสามารถในการจัดการกับหนี้นั้นต่างกัน ท่านจะดูค่าใช้จ่ายและปรับไปตามงบก็เหมาะสม
จริง ๆ แล้ว แค่ 4 แสนก็นับว่าหนักมากพอแล้ว (สำหรับเจ้าบ่าวผู้ไม่ประสงค์จะเอ่ยนาม) เพราะว่ากว่าจะเก็บเงินได้ สมมติว่าเก็บเดือนละ 10,000 ก็เก็บได้ปีละ 120,000 กว่าจะครบ 400,000 บาท ก็เกือบ 3 ปี ทางที่ดีจัดให้เหมาะสมกับตัวเองดีกว่า และยังฝากเรามาบอกเจ้าบ่าวเจ้าสาวในอนาคตว่า การเป็นหนี้นั้นไม่สนุก แต่งงานแล้วแทนที่จะมีความสุขกลับต้องมาเป็นทุกข์กันเพราะหนี้ และจะหย่ากันเพราะหนี้ หรือ ปัญหาเรื่องเงินนี่หล่ะ เพราะว่าเจ้าตัวก็เคยเกือบจะหย่ากันเพราะปัญหาเรื่องเงินมาแล้ว พอมีปัญหาเรื่องเงิน มีทัศนคติไม่ตรงกัน มีอีกหลาย ๆ บุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง ความรักของคนสองคนที่เคยเบิกบานก็อาจจะไม่สวยสดงดงามดังแต่ก่อน
จบข่าว
เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงความคิดเห็นจากประสบการณ์ของเจ้าบ่าวท่านหนึ่ง ที่แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวและความคิดเห็นให้กับ WeddingReview เท่านั้น ส่วนกรณีของท่านนั้น จะตัดสินใจอย่างไร สุดแท้ก็แล้วแต่ตัวท่านและครอบครัวเห็นสมควร เพราะว่ารายได้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ภาระทางด้านการเงินก็ไม่เหมือนกัน ความรับผิดชอบของแต่ละท่านก็ไม่เหมือนกัน
ปัจจัยที่ทำให้คู่สมรสหย่าร้าง
อ้างอิงจาก “คู่มือให้การปรึกษาคู่สมรส” ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 ผลิตโดย สำนักพัฒนาสุขภาพจิต และ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ปัจจัยที่ทำให้คู่สมรสหย่าร้าง ประกอบด้วย
1. ปัจจัยเกี่ยวกับบุคลิก ลักษณะ ของคู่สมรส
อาทิ บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย ไม่สามารถยอมรับในกันและกันได้ หรือ เข้ากันไม่ได้, ความแตกต่างทางศาสนา ความเชื่อ การศึกษา หรือ ญานะที่แตกต่างกันเกินไป, ภูมิหลังในวัยเด็ก, ความซื่อสัตย์ เป็นต้น
2. ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
เช่น สื่อสารไม่เข้าใจ, ใช้คำพูดไม่ดีต่อกัน, ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจมากเกินไป หรือ ทารุณกรรม, ทัศนคติไม่ตรงกันเรื่องเพศสัมพันธ์ รสนิยมทางเพศไม่ตรงกัน และ ความสัมพันธ์เป็นไปทางลบมากกว่าทางบวก, ความคาดหวังที่ไม่ตรงกัน หรือ คาดหวังในสิ่งที่อีกฝ่ายเป็นไปไม่ได้ และ อีกมากมาย
3. ปัจจัยอื่น ๆ
เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ, การเงิน (เป็นปัญหาที่ทำให้คู่รักหย่าร้างกันได้บ่อย), ทัศนคติในการเลี้ยงดูลูก, อีกฝ่ายไม่อยากมีลูกเยอะ หรือ ไม่อยากมีเลย, ปัญหาแม่ผัวลูกสะใภ้, ปัญหาบุคคลที่สาม และอื่น ๆ
หากเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ทาง WeddingReview ก็ทำได้เพียงขอให้ทุกท่านมีสติ ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา แทนการใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง พิจารณาให้ถ่องแท้ว่าปัญหาจริง ๆ นั้นอะไรคือสาเหตุ หรือต้นเหตุ แก้ไขในจุดที่ทุก ๆ ฝ่ายสบายใจ อย่างที่เราได้กล่าวเป็นตัวอย่างที่เราสรุปมาจากข้อมูลของกรมพัฒนาสุขภาพจิตข้างต้น ว่า
ปัญหาการหย่าร้างนั้นก็ไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องเงิน ทัศนคติ, บุคคลที่สาม, แม่ผัว-ลูกสะใภ้ ก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุได้ บทจะทะเลาะเรื่องเงินเรื่องจัดงานแต่งงานกันแล้ว ก็อาจจะทะเลาะกันต่อในครอบครัวทั้งสองฝ่าย จนชีวิตแต่งงานไม่มีความสุขก็ได้…
ลองพิจารณาถึงความสัมพันธ์อันดีที่เคยมีด้วยกันมา อนาคตที่อยากมีด้วยกัน ความสัมพันธ์และสิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ ในชีวิตของคุณ ไม่ว่าคุณจะแต่งงานหรือไม่แต่งงาน สิ่งสำคัญที่ทำให้คุณมีความสุขได้…อยู่ที่ความคิดของคุณเอง หากจิตใจของคุณมุ่งหวังที่จะเป็นสุขแล้ว ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบ ใครจะคิดอย่างไร มันก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา คุณก็ยังมองเห็นความสุขได้ หรือ มีชีวิตครอบครัวที่มีความสุขได้ เพราะว่าชีวิตเป็นของคุณ
บทความโดย: WeddingReview
บทความที่คุณอาจสนใจ