พิธีแต่งงาน มีอะไรบ้าง มาดูกัน (ลำดับพิธีแต่งงานไทย)

พิธีแต่งงาน มีอะไรบ้าง มาดูกัน (ลำดับพิธีแต่งงานไทย)

พิธีแต่งงานของชาวไทย เปรียบเป็นดั่งงานต้อนรับคู่บ่าวสาวทั้งคู่เข้าสู่ 2 ครอบครัวที่มาเกี่ยวดองกัน … โดยลำดับพิธีแต่งงานเช้า ทำให้ทีมงาน WeddingReview นึกถึงคำกล่าวที่ว่า “ไปลา-มาไหว้” เมื่อฝ่ายเจ้าบ่าวจะเข้ามาสู่ขอลูกสาวอีกบ้านแล้ว ก็มาไหว้อย่างเป็นทางการ มาขออย่างเป็นทางการ และมาบอกสมาชิกและคนรู้จักให้ทราบกันอย่างเป็นทางการ ส่วนฝ่ายหญิงก็มีทั้งการรับขวัญเข้าเป็นสมาชิกอีกครอบครัว รับสินสอดจากเจ้าบ่าวตามประเพณี รับน้ำสังข์และคำอวยพรจากผู้ใหญ่พร้อมแขกและเพื่อน ๆ รวมทั้งพิธีส่งตัวเข้าหอ ที่เป็นการแสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษไทยสืบทอดนิสัยอันโอบอ้อมอารี การต้อนรับ และเป็นห่วงลูกหลานมากเพียงใดแม้ในวันที่ลูกหลานจะออกเรือนไปแต่งงานก็ตาม … พิธีแต่งงาน เป็นพิธีที่ทำให้คู่บ่าวสาวได้มีโอกาสแสดงความเคารพกับครอบครัวทั้งสองฝ่าย รับขวัญ คำอวยพร และ เป็นพิธีที่สองครอบครัวจะได้มาแสดงความยินดี มีความสุขร่วมกันในวันที่ครอบครัวมีสมาชิกใหม่เข้ามา

พิธีแต่งงาน มีอะไรบ้าง

ลำดับพิธีแต่งงานไทย ช่วงเช้า มีดังนี้

1. พิธีสงฆ์

พิธีสงฆ์ในงานแต่งงาน มักเป็นพิธีที่จัดเป็นอันดับแรกในวันแต่งงาน ตามประเพณีไทยแล้วพิธีสงฆ์ก็คือพิธีทำบุญร่วมกันของคู่บ่าวสาว นัยว่าเป็นการเริ่มต้นสิ่งดี ๆ และสิ่งที่เป็นมงคลในชีวิตคู่บ่าวสาว โดยปกติจะนิยมนิมนต์พระมา 9 รูป มาร่วมทำบุญตักบาตร หรือที่เรียกว่า “ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน” ประโยคยอดฮิตที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ นั่นเอง และตามความเชื่อแล้วบ่าวสาวทุกคู่ห้ามขาดพิธีนี้เป็นอันขาด

ทราบหรือไม่? นอกจากพิธีสงฆ์แล้ว บางครอบครัวยังมีความเชื่อที่จะต้องจัด “พิธีไหว้ผี งานแต่งงาน” อีกด้วยนะคะ

2. พิธีแห่ขันหมาก

อีกหนึ่งพิธีในวันแต่งงานแบบไทยที่มีให้เห็นทั้งในละครและชีวิตจริงมาอย่างยาวนาน ไฮไลท์ที่ขาดไปไม่ได้ในงานแต่งงาน เรียกว่าเป็นพิธีสุดเก๋และสนุกสุด ๆ อย่าง “พิธีแห่ขันหมาก” นั่นเอง โดยฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องแห่ขบวนมาพร้อมกับพ่อแม่และผู้หลักผู้ใหญ่มาที่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อนำพานสินสอดและพานทองหมั้นไปทำพิธีสู่ขอฝ่ายหญิงต่อ ส่วนฝ่ายหญิงก็ต้องมีพานดอกไม้และพานเชี่ยนหมากเพื่อเป็นการต้อนรับขบวนของเจ้าบ่าวนั่นเอง แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พิธีนี้ก็เริ่มลดลงไปด้วย อย่างพานเชี่ยนหมากสำหรับต้อนรับขบวนแห่ขันหมาก

3. กั้นประตูเงินประตูทอง

การเป็นเจ้าบ่าวในวันงาน ใช่ว่าจะได้เข้าไปถึงตัวเจ้าสาวได้ง่าย ๆ … การกั้นประตูเงินประตูทองเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของพิธีแต่งงานแบบไทย เจ้าบ่าวจะต้องผ่านด่านประตูเงินประตูทองแต่ละด่านไปก่อน โดยเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าบ่าว และพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องเตรียมเงินใส่ซองมาเป็นค่าผ่านทาง ยิ่งใกล้ถึงประตูที่อยู่ใกล้เจ้าสาวมากที่สุดบอกเลยว่าเจ้าบ่าวเตรียมเงินเตรียมซองไปเยอะ ๆ หน่อยนะคะ

4. พิธีสู่ขอ

หลังเสร็จจากพิธีประตูเงินประตูทองแล้ว ก็ต้องมาต่อด้วยพิธีสู่ขอหรือพิธีหมั้นนั่นเอง ตามธรรมที่ปฏิบัติกันมาฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องไหว้สู่ขอลูกสาวจากพ่อแม่ฝ่ายหญิง จนพ่อแม่กล่าวตกลง หลังจากนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวต้องนำพานของหมั้น พานขันหมากเอกทั้งหมดที่เตรียมมาวางเพื่อทำพิธีต่อหน้าพ่อแม่ตัวเอง พ่อแม่ฝ่ายหญิง ผู้หลักผู้ใหญ่ และมีคนที่มาร่วมงานทั้งหลายเป็นสักขีพยาน

5. พิธีสวมแหวนหมั้น หรือ มอบแหวนหมั้น

เชื่อว่าภาพงานแต่งแบบไทยในหัวของทุกคนต้องมีภาพเจ้าสาวกราบเจ้าบ่าวตอนสวมแหวนแน่นอน ในพิธีสวมแหวนนี้ เจ้าบ่าวจะทำการสวมแหวนให้เจ้าสาว และเจ้าสาวต้องกราบขอบคุณเจ้าบ่าว ช็อตนี้แหละที่ทุกคู่มักจะถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเก็บไว้ เพราะหลังจากวันนี้คงจะหาภาพภรรยากราบสามีไม่ได้อีกแล้ว หลังจากนั้นเจ้าสาวก็จะสวมแหวนให้เจ้าบ่าวเช่นกัน เป็นอันเสร็จพิธี

6. พิธีรับไหว้

ตามความเชื่อในพิธีแต่งงานแบบไทย หลังจากหมั้นหมายกันแล้ว เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องทำพิธีกราบไหว้พ่อแม่และผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ผู้ใหญ่ก็จะรับไหว้และผูกสายสิญจน์ให้ บางท่านอาจมีของขวัญมามอบให้คู่บ่าวสาวเพื่อเป็นการรับขวัญและแสดงถึงว่าได้รับเข้ามาเป็นคนในครอบครัวแล้วนั่นเอง

7. พิธีรดน้ำสังข์

แต่งงานตามประเพณีไทยบ้านเรา อีกอย่างที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือพิธีรดน้ำสังข์ เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องสวมมงคลแฝดและถูกเจิมหน้าผาก (บางท่านเจิมมาตั้งแต่ช่วงพิธีสงฆ์หากพระสงฆ์ต้องรีบกลับวัด) หลังจากนั้นประธานในพิธีจะทำการรดน้ำสังข์ ตามด้วยพ่อแม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ และแขกในงาน เพื่อกล่าวคำอวยพร เสริมสิริมงคลให้แก่บ่าวสาว

8. พิธีส่งตัวเข้าหอ

พิธีแต่งงานแบบไทยพิธีสุดท้ายที่เห็นกันบ่อยๆ ในละครพีเรียด เรียกได้ว่าคลาสสิคตลอดกาล ก็คือพิธีส่งบ่าวสาวเข้าหอนั่นเอง โดยจะมีคนมาปูเตียงให้บ่าวสาว จัดเรียงหมอน 2 ใบ ปัดที่นอน แสร้งนอนหลับและตื่นพอเป็นพิธี และอาจมีการนำของมาบางมาร่วมประกอบพิธี อย่างพานใส่ถุงข้าวเปลือก พืชมงคล ครก (แสดงถึงความหนักแน่น) บางบ้านเตรียมฟัก ไม้ทอง และแมว (หุ่นแม่) และอีกมามายตามแบบวิถีโบราณ และส่วนใหญ่มักจะถือกันว่าผู้ที่ทำพิธีนี้จะต้องเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีประวัติหย่าร้าง รักใครกลมเกลียว มีครอบครัวที่มีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับคู่บ่าวสาว

การจัดงานแต่งงานแบบไทยของเรานี้เรียกได้ว่าเรียบง่ายแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของมันสุดๆ อีกทั้งยังเหมาะมากกับคู่รักที่ต้องการจัดงานแต่งงานแบบประหยัดงบ และสำหรับใครที่สนใจอยากแต่งงานแบบพิธีแบบไทยนี้ WeddingReview ขอบอกไว้ก่อนว่า ถ้าหากไม่สะดวกก็ไม่จำเป็นต้องทำตามทุกพิธีนะคะ สามารถตัดขั้นตอนบางอย่างออกไปได้ ตามความสะดวกและความเหมาะสมของคู่รักแต่ละคู่ค่ะ

Report

What do you think?

0 Points
Upvote
รวม 5 ไอเดีย แบ็คดรอปงานแต่ง สวยๆ สร้างความโดดเด่นให้กับงาน

รวม 5 ไอเดีย แบ็คดรอปงานแต่ง สวยๆ สร้างความโดดเด่นให้กับงาน

ใส่ซองงานแต่งเท่าไหร่ ไม่น่าเกลียด (เรียกว่าเหมาะสม)

ใส่ซองงานแต่งเท่าไหร่ ไม่น่าเกลียด (เรียกว่าเหมาะสม)