พิธีเรียงหมอน ประเพณีโบราณเสริมสร้างความสิริมงคลให้คู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน

พิธีเรียงหมอน ประเพณีโบราณเสริมสร้างความสิริมงคลให้คู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน

พิธีเรียงหมอน หรือ พิธีปูที่นอน เป็นขั้นตอนหนึ่งในพิธีส่งตัวเข้าหอที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย โดยพิธีเรียงหมอนจะเป็นการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายเคารพนับถือมาเป็นผู้ปูที่นอน เรียงหมอนในพิธีส่งตัวเข้าหอเพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นตัวอย่างที่ดีในการครองรักครองเรือนให้แก่คู่บ่าวสาว ทั้งนี้ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ที่ทำพิธีเรียงหมอนให้คู่บ่าวสาวนั้น WeddingReview รวบรวมข้อมูลมาให้ว่าต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • เป็นคู่สามีภรรยาที่เข้าพิธีแต่งงานถูกต้องตามประเพณี ครองคู่และอยู่กินกันมายาวนาน
  • เป็นคู่สามีภรรยาที่มีชีวิตคู่ที่ราบรื่น ประสบความสำเร็จ มีทรัพย์สินเงินทอง มีความสุขความอบอุ่น และมีลูกมีหลานที่เป็นคนดี
  • เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนดี มีคุณธรรม เป็นที่ยอมรับในสังคม

กล่าวได้ว่าญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ที่ทำพิธีเรียงหมอนได้นั้น ต้องมีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ และเป็นคนดีมีคุณธรรม สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคู่บ่าวสาวได้นั่นเอง

พิธีเรียงหมอน ประเพณีโบราณเสริมสร้างความสิริมงคลให้คู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน

อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีเรียงหมอน

  1. ชุดผ้าปูที่นอน ฟูก ที่นอน หมอนหนุน หมอนข้าง ปลอกหมอน จำนวน 1 ชุด โดยคู่บ่าวสาวเลือกลายและสีได้ตามใจชอบ และควรเป็นชุดที่ใช้ในชีวิตคู่จริงๆ
  2. ฟักเขียว จำนวน 1 ลูก แสดงถึง การอยู่เย็นเป็นสุข
  3. ถั่วและงา อย่างละ 1 ถุง แสดงถึง ความเจริญรุ่งเรือง
  4. ข้าวตอก ดอกไม้ เช่น ดอกรัก ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ ใส่รวมกับเหรียญทอง เหรียญเงิน จำนวน 1 ขัน
  5. ขันใส่น้ำ จำนวน 1 ใบ แสดงถึง ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
  6. ขันน้ำมนต์พร้อมที่พรม จำนวน 1 ขัน
  7. หินบดยา จำนวน 1 ก้อน แสดงถึง จิตใจที่หนักแน่น
  8. ไม้เท้า จำนวน 1 อัน แสดงถึง การมีอายุยืนยาว
  9. แมว จำนวน 1 ตัว หรือรูปปั้นแมวก็ได้ แสดงถึง การรักบ้านเรือน
  10. ไก่ขาว จำนวน 1 ตัว หรือรูปปั้นไก่ขาวก็ได้ แสดงถึง ความขยันหมั่นเพียร

ลำดับขั้นตอนในพิธีเรียงหมอน

1. พิธีการของไทยถือเรื่องฤกษ์ยามเป็นเรื่องสำคัญ ผู้เฒ่าผู้แก่หรือแม่งานที่เป็นเจ้าพิธีจะจัดการตระเตรียมการล่วงหน้าเล็กน้อย โดยจะเชิญ เจ้าบ่าว เจ้าสาว บิดา มารดา ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือของเจ้าบ่าวเจ้าสาว และคู่สามีภรรยาผู้ทำพิธีมาพร้อมกันหน้าเรือนหอเพื่อรอฤกษ์ยาม ทั้งนี้ ก่อนที่จะถึงฤกษ์ยามที่กำหนดจะเข้าห้องหอก่อนไม่ได้

2. เมื่อถึงฤกษ์ยามที่จัดไว้ คู่สามี-ภรรยาผู้ทำพิธี จะเริ่มด้วยการเรียกหาคนที่ชื่อเป็นมงคล ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องมีคนชื่อนั้นอยู่จริงๆ ในงาน แต่จะต้องมีคนขานรับทุกชื่อที่เรียกมา ซึ่งโดยมากก็จะเป็นญาติๆที่ได้บอกกล่าวนัดแนะถึงขั้นตอนนี้ไว้ให้มาขานรับ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาว เป็นต้นว่า

เจ้าพิธีจะประกาศ : เมื่อถึงฤกษ์งามยามดีแล้ว เอ้า… นาง “รัก” มาแล้วหรือยังญาติๆ : มาแล้วเจ้าค่ะ
เจ้าพิธี : อยู่แล้วหรือยัง
ญาติๆ : อยู่แล้วเจ้าค่ะ
เจ้าพิธี : เอ้า.. นาย “มั่น” มาแล้วหรือยัง
ญาติๆ : มาแล้วเจ้าค่ะ
เจ้าพิธี : อยู่แล้วหรือยัง
ญาติๆ : อยู่แล้วเจ้าค่ะ
เจ้าพิธี : เอ้า.. นาย “คง” มาแล้วหรือยัง
ญาติๆ : มาแล้วเจ้าค่ะ
เจ้าพิธี : อยู่แล้วหรือยัง
ญาติๆ : อยู่แล้วเจ้าค่ะ
เจ้าพิธี : เอ้า.. เมื่อนางรัก นายมั่น และนายคง มากันครบแล้ว คนที่จะมาอำนวยพรก็มากันพร้อมแล้ว เราก็มาช่วยกัน ปูที่นอนกันเลย

3. เมื่อถึงฤกษ์ปูที่นอน จะทำพิธีปูที่นอน โดยเชิญคู่สามีภรรยาผู้ทำพิธี มาเป็นผู้ปูที่นอนเริ่มจากการปูผ้าปูที่นอน เสร็จแล้วก็พรมน้ำมนต์ และนำอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีเรียงหมอนทั้งหมด (เช่น ชุดผ้าปูที่นอน ฟักเขียว ถั่วงา เป็นต้น) วางไว้บนที่นอน หรือโต๊ะที่จัดเตรียมไว้ข้างที่นอนก็ได้ เมื่อวางของทั้งหมดครบแล้ว คู่สามีภรรยาก็จะกล่าวคำอวยพรให้กับคู่บ่าวสาวว่า “ขอให้คู่สมรสจงมีน้ำใจใสสะอาดดุจน้ำในหม้อนี้ ให้อยู่เย็นเป็นสุขดังน้ำและลูกฟัก ให้มีน้ำใจหนักแน่นเหมือนดั่งหิน มีอายุยืนยาวถือไม้เท้ายอดทองตะบองยอดเพชร รักบ้านรักเรือนดังแมวคราว นอนดึกลุกเช้า เฝ้าขยันหมั่นเพียรดั่งไก่งาม และให้มีความเจริญวัฒนาเหมือนถั่วงาและข้าวเปลือกที่งอกงามบริบูรณ์”

4.เมื่อกล่าวอวยพรกันจบแล้ว คู่สามี-ภรรยาต้นแบบที่เป็นผู้ทำพิธีจะเรียงหมอนให้ชิดกัน แล้วค่อยๆนั่งลงบนที่นอนโดยสามีจะต้องอยู่ขวามือของภรรยา จากนั้นจึงเริ่มเสริมสิริมงคลด้วยการสวดมนต์ เริ่มจากตั้งนโม 3จบ และสวดบทพระรัตนตรัย กราบ 3ครั้ง แล้วค่อยๆนอน เสมือนเข้านอนจริง ก่อนหลับตานอนก็อาจมีการสนทนาด้วยเนื้อหาอันเป็นมงคล อาทิ

สามี : ที่นอนนี้ ถ้าใครได้นอน จะอยู่ร่มเย็นเป็นสุข อายุยืนยาวนะแม่
ภรรยา : หมอนนี้ถ้าใครได้หนุน จะมีทรัพย์มากมายจนแก่เฒ่า ลูกเต้าเลี้ยงง่ายน่ารัก นะพ่อ
สามี : ผู้ใดได้นอน มีลูกหญิงได้สืบสาย หากได้ลูกชายจะได้สืบตระกูล
ภรรยา : สามีภรรยาใดได้นอนที่นอนนี้ ขอจงมีสุขสมหวัง ความเจ็บอย่าได้ใกล้ ความไข้อย่าได้มี บุญรักษาสมปรารถนาทุกประการเทอญ

5.เมื่อการสนทนาดำเนินจบ สามี-ภรรยาผู้ทำพิธี ก็จะทำเสมือนว่าได้นอนหลับไปจริงๆ และเมื่อได้เวลาตื่น ขณะที่ลุกขึ้นนั้นจะมีการกล่าวถึงนิมิตอันเป็นมงคล
ความว่า

ภรรยา : พ่อเมื่อคืนฉันฝันว่า (ตามด้วยเรื่องมงคล)( ห้ามฝันว่าได้เงินทอง ความเชื่อโบราณ ฝันได้เงินทอง คือโรคภัยไข้เจ็บ)
สามี : น่าจะมีเรื่องดีงามเกิดกับเราในไม่ช้านะแม่

6. เมื่อคู่สามี-ภรรยาลุกขึ้น จะมีการวางแก้วน้ำบนหัวนอน โปรยข้าวตอกดอกไม้และเงินเหรียญที่ได้นำเข้าพิธีสงฆ์ในช่วงเช้า เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีเรียงหมอนปูที่นอน

พิธีเรียงหมอน ประเพณีโบราณเสริมสร้างความสิริมงคลให้คู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน

อย่างไรก็ตามสำหรับบางพื้นที่หรือบางครอบครัว ที่ตกทอดความรู้ทางประเพณีโบราณ ก็จะมีการวางฟักแฟง หินเตาไฟหรือหินบดยาและแมว ไว้บนหัวเตียง 3 คืน มีความหมายว่า “ให้เย็นเหมือนฟัก หนักเหมือนแฟง อยู่เรือนเหมือนก้อนเส้า เฝ้าเรือนเหมือนแมวคราง” ตามด้วยการโปรยถั่วงาลงพื้นดิน เพื่อให้เจริญงอกงาม หมายถึงการให้ครอบครัวสมบูรณ์อยู่ร่มเย็นยั่งยืน เสร็จสิ้น พร้อมส่งตัวบ่าวสาวต่อไป

บทความโดย WeddingReview

บทความที่คุณอาจสนใจ

Report

What do you think?

0 Points
Upvote
คู่มือจัดงานแต่งงานในสวน

คู่มือจัดงานแต่งงานในสวน

พิธีลอดซุ้มกระบี่ ที่มาและลำดับพิธี สำหรับงานแต่งงานของนักเรียนนายร้อย

พิธีลอดซุ้มกระบี่ ที่มาและลำดับพิธี สำหรับงานแต่งงานของนักเรียนนายร้อย