พิธีลอดซุ้มกระบี่ ที่มาและลำดับพิธี สำหรับงานแต่งงานของนักเรียนนายร้อย

พิธีลอดซุ้มกระบี่ ที่มาและลำดับพิธี สำหรับงานแต่งงานของนักเรียนนายร้อย

สาวๆ หลายๆ คน คงมีฝัน อยากจัดงานแต่งในพิธีลอดซุ้มกระบี่สวยใช่มั้ยคะ นอกจากถ่ายภาพงานได้สวยงามแล้ว ยังมีเกียรติอีกด้วย ว่าแต่พิธีนี้ มีที่มาจากที่ไหน มีความหมาย ความสำคัญ และมีเกียรติยศ อย่างไร วันนี้ WeddingReview มีคำตอบและความเป็นมาของพิธีนี้มาฝากกันค่ะ

ที่มาของการลอดซุ้มกระบี่

การลอดซุ้มกระบี่ มาจากพิธีแต่งงานของอัศวิน สมัยยุคกลางในอังกฤษ หากอัศวินจะแต่งงาน กษัตริย์จะพระราชทานซุ้มดอกไม้ให้เพื่อเป็นเกียรติ ซึ่งในสมัยนั้นอัศวินจะต้องแต่งงานกับนางในวังหรือเชื้อพระวงศ์เท่านั้น
แต่มีอัศวินท่านหนึ่ง ที่หลงรักกับพยาบาลในหมู่บ้านจึงไม่ได้รับการยอมรับ จึงออกจากวังมาอยู่กับนางอันเป็นที่รัก แต่เมื่อถึงคราวสงคราม อัศวินท่านนั้นได้กลับมาช่วยรบ กษัตริย์จึงขอให้เหล่าอัศวินทำซุ้มกระบี่ แทนซุ้มดอกไม้ เพื่อเป็นเกียรติแก่อัศวิน และเป็นการต้อนรับเจ้าสาวของอัศวิน หลังพิธีแต่งงาน อัศวินก็ร่วมรบเอาชนะสงครามได้ จากนั้นมา ซุ้มกระบี่จึงกลายเป็นพิธีแต่งงานอันทรงเกียรติของเหล่าอัศวิน และได้แพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทยนั่นเองค่ะ

เริ่มแพร่หลายตั้งแต่ในรัชสมัยของ รัชกาลที่ 6 ขณะอภิเษกสมรสกับ พระนางเจ้าสุวัทนา ณ พระที่นั่งบรมพิมาน แต่พิธีของไทยจะแตกต่างจากที่อื่นคือ จัดพิธีได้ทั้งทหารและตำรวจที่จบจากโรงเรียนนายร้อยเลยค่ะ ส่วนประเทศอื่นจะทำได้เฉพาะทหารเท่านั้น

พิธีลอดซุ้มกระบี่ งานแต่ง

ปัจจุบัน การจัดซุ้มกระบี่จะจัดสำหรับบ่าวสาวที่ฝ่ายชายเป็นนายทหารชั้นยศ “ร้อยตรี” ขึ้นไปนั้น สามารถกระทำได้ตามประเพณี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเจ้าภาพ โดยผู้ที่จะมาทำซุ้มกระบี้ให้นั้น จะต้องเป็นเพื่อนร่วมรุ่น หรือรุ่นน้อง ร่วมสถาบัน (ทางทหาร) กัน ที่เป็นนายทหารสัญญาบัตรด้วย

โดยผู้ที่จะมีสิทธิ์ได้รับพระราชทานกระบี่ ประกอบเครื่องแต่งกายของเหล่าทหารตำรวจในประเทศไทยนั้น จะต้องเป็นนายทหารสัญญาบัตร หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า นายร้อย โดยเรื่องชั้นยศ ก็เริ่มตั้งแต่ ร้อยตรี ขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันการบรรจุเป็นนายทหารสัญญาบัตรมีด้วยกันหลากหลายวิธี ทั้งที่มาจากโรงเรียนนายร้อยหลัก หรือที่เรารู้จักกันว่า นักเรียนนายร้อย (ทุกเหล่าทัพ) ซึ่งข้อนี้ถือเป็นผู้ที่มาจากสถาบันอันทรงเกียรติ และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับพระราชทานยศเป็น ร้อยตรี และได้เข้ารับพระราชทานกระบี่จากพระหัตต์ของพระมหากษัตริย์ด้วยตนเอง, นักเรียนพยาบาล, นักเรียนนายสิบ (เฉพาะผู้ที่ได้เลื่อนยศเป็นนายทหารสัญญาบัตรภายหลังรับราชการมาแล้ว) หรือแม้กระทั้งการสอบบรรจุมาจากพลเรือนเป็นนายทหารสัญญาบัตร เหล่านี้ล้วนได้รับกระบี่พระราชทาน ทั้งสิ้น

สิ่งที่ต้องเตรียม และ ลำดับขั้นตอนพิธีลอดซุ้มกระบี่ ในงานแต่งงาน

พิธีลอดซุ้มกระบี่ มีความหมายว่าเข้มแข็ง สวยงาม เป็นการแสดงความพร้อมที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ที่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใด ๆ คู่บ่าวสาวก็จะร่วมฟันฝ่าอย่างราบรื่น และเป็นการให้เกียรติเจ้าสาว ว่ายินดีต้อนรับสู่การเป็นภรรยาของนายทหารแห่งเหล่าทัพอย่างเป็นทางการ

  1. โดยการลอดซุ้มกระบี่จะจับคู่ จำนวนมาตรฐานคือ 6 นาย (3 คู่) แต่อาจจัด 4 นาย หรือ 8 นาย ได้แล้วแต่คู่บ่าวสาวจะเชิญ ผู้ที่ถือกระบี่ในการทำซุ้มกระบี่ควรจะเป็นเพื่อนของเจ้าบ่าวเป็นหลัก หากหาไม่ได้ก็จะเป็นนายทหารของหน่วยของตนเองเป็นลำดับต่อไป
  2. ส่วนการแต่งกายทั้งเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าบ่าวที่ถือกระบี่ทำซุ้ม ต้องแต่งตามยศให้ถูกต้องการสวมเครื่องแบบ การติดเครื่องหมาย การประกอบกระบี่ รวมถึงการปฏิบัติในท่ากระบี่ให้ถูกต้องตามระเบียบของเหล่าทัพ โดยผู้ถือกระบี่ต้องใส่ถุงมือสีขาว ส่วนการแต่งกายเป็นชุดใหญ่สุดของกองทัพ
  3. ก่อนและหลังการทำซุ้มกระบี่ ผู้ที่ทำซุ้มกระบี่จะต้องนำกระบี่ติดตัวไปด้วยตลอดเวลา ส่วนแถวของผู้ถือกระบี่และความพร้อมเพรียงในการชักกระบี่ต่าง ๆ ควรดำเนินการหลังจากแขกพร้อมแล้ว เพราะจะสร้างความประทับได้มาก
    โดยเมื่อเดินออกมาจากจุดรวมพลเป็นคู่ ๆ จะเดินมาด้วยท่าบ่าอาวุธ (กระบี่)
  4. และในลำดับพิธีการลอดซุ้มกระบี่นั้น จะอยู่ในช่วงก่อนการตัดเค้ก และเมื่อมีพิธีลอดซุ้มกระบี่แล้ว จะจุดเทียน และตัดเค้กด้วยกระบี่ ซึ่งเจ้าบ่าวบางท่านก็ใช้กระบี่ของเจ้าบ่าวในการตัดเค้กนั้นเพื่อให้สมเกียรติ แต่บางท่านด้วยกลัวว่ากระบี่จะเลอะหรือหาย ก็อาจใช้ของทางโรงแรมหรือทางสถานที่จัดงานได้ค่ะ

พิธีลอดซุ้มกระบี่เป็นพิธีที่สวยงามอลังการ ศักดิ์สิทธิ มีเกียรติ และมีความหมายที่ดีมาก สำหรับสาวๆ ที่กำลังจะแต่งงานและมีพิธีลอดซุ้ม WeddingReview แนะนำว่าควรศึกษาไว้ จะได้เข้าใจความเป็นมาและความรักของหนุ่มๆ นายทหารมากขึ้นค่ะ

บทความที่คุณอาจสนใจ

Report

What do you think?

2 Points
Upvote
พิธีเรียงหมอน ประเพณีโบราณเสริมสร้างความสิริมงคลให้คู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน

พิธีเรียงหมอน ประเพณีโบราณเสริมสร้างความสิริมงคลให้คู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน

โบกมือลาความโสดกับ “ปาร์ตี้สละโสด” แซ่บ ดุ ฮา

โบกมือลาความโสดกับ “ปาร์ตี้สละโสด” แซ่บ ดุ ฮา