ลำดับพิธีแต่งงานแบบจีน และพิธียกน้ำชา ละเอียดและเข้าใจง่ายสุด ๆ

พิธีแต่งงานแบบจีน มีลำดับขั้นตอนอย่างไร? แล้วต้องเตรียมอะไรบ้าง?

ลำดับพิธีแต่งงานแบบจีน และพิธียกน้ำชา ละเอียดและเข้าใจง่ายสุด ๆ

สำหรับหนุ่มสาวที่กำลังจะได้เป็นเขยหรือสะใภ้ครอบครัวจีน และต้องเข้าพิธีแต่งงานแบบจีน อาจมีความสับสนมึนงงบ้างว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เพราะพิธีการนั้นค่อนข้างซับซ้อน และมีของที่บ่าวสาวต้องจัดเตรียมมากมาย ความจริงแล้วพิธีแต่งงานแบบจีนตามประเพณีดั้งเดิมนั้นมีรายละเอียดเยอะมาก แต่ปัจจุบันคนไทยเชื้อสายจีนอาจมีปรับเปลี่ยนพิธีให้ง่ายขึ้น ซับซ้อนน้อยลง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเคร่งครัดของแต่ละครอบครัวด้วย ว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวลองมาดูกันดีกว่าว่า ขั้นตอนการจัดพิธีแต่งงานแบบจีนมีอะไรบ้าง เพื่อเราจะได้เตรียมตัว และปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ไม่ขัดเขินเมื่อถึงเวลานั่นเอง ทีมงาน WeddingReview.net ได้นำข้อมูลมาฝากดังนี้ค่ะ

การแต่งงานแบบจีน

1. ดูฤกษ์แต่งงาน

อันดับแรกสุด พ่อแม่ของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จะต้องนำดวงของคู่บ่าวสาวไปให้ซินแสตรวจเพื่อหาฤกษ์สำหรับพิธีแต่งงาน หรือวันรับตัวเจ้าสาว เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีแล้ว ครอบครัวบ่าวสาวจึงจะเริ่มตระเตรียมสิ่งของที่ใช้ในพิธีแต่งงานตามแบบฉบับชาวจีนต่อไป

ลำดับพิธีแต่งงานแบบจีน และพิธียกน้ำชา ละเอียดและเข้าใจง่ายสุด ๆ

2. ขันหมากจีน และสิ่งที่เจ้าบ่าวต้องเตรียม

นอกจากเตรียมตัวให้พร้อมแล้ว ครอบครัวเจ้าบ่าวยังมีหน้าที่ต้องเตรียมเครื่องขันหมากและสินสอดทองหมั้น โดยรายละเอียดสิ่งของที่ต้องเตรียม ก็มีดังนี้

  • เงินสินสอดและทอง (เพ้งกิม) จำนวนเงินสินสอดนั้นขึ้นอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิงเรียกร้อง โดยพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะเป็นคนรับไว้ ส่วนทองนั้นก็ตามแต่ฝ่ายหญิงต้องการเช่นกัน ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วยทอง 4 อย่าง เช่น สร้อยทอง กำไลทอง เข็มขัดทอง ต่างหูทอง
  • ส้มเช้งเขียว เป็นผลไม้มงคลที่สื่อถึงโชคดี โดยส้มเช้งที่นำมาต้องมีตัวหนังสือซังฮี้สีแดงติดไว้ทุกผล และต้องเตรียมมาเป็นจำนวนเลขคู่ มากน้อยตามที่ฝ่ายหญิงกำหนด
  • กล้วย ให้ใช้กล้วยเครือใหญ่ที่มีสีเขียว หรือกล้วยดิบ โดยจำนวนหวีในเครือควรเป็นเลขคู่ กล้วยที่เตรียมมาให้ใช้กระดาษสีแดงพันที่ก้านเครือ และผลกล้วยทุกลูกให้ติดตัวหนังสือซังฮี้สีแดงไว้เหมือนกัน กล้วยทั้งเครือ หมายถึงการอวยพรให้คู่แต่งงานมีลูกหลานมากมายสืบสกุล และหลังพิธีแต่งงานเจ้าบ่าวต้องนำกล้วยเครือนี้กลับบ้านไปด้วย
  • ต้นอ้อย 1 คู่ เป็นสิ่งที่สื่อถึงชีวิตคู่อันหวานชื่น แต่บางครอบครัวอาจมองว่าอ้อยนั้นทานยาก เพราะต้องปอกต้องแทะก่อน จึงจะได้รสหวาน ดังนั้น บางบ้านอาจไม่ใช้อ้อยในพิธีก็ได้
  • ขนมหมั้นและขนมแต่งงาน ในพิธีแต่งงานจีนจะใช้ขนม 4 สี ที่เรียกว่า “ซี้เส็กหม่วยเจี๊ยะ” หรือขนม 5 สี ที่เรียกว่า “โหงวเส็กทึ้ง” ซึ่งได้แก่ ขนมเปี๊ยะโรยงา ขนมเหนียวเคลือบงา ขนมถั่วตัด ขนมข้าวพองทุบ และขนมโก๋อ่อน ตามหลักแล้วฝ่ายหญิงจะเป็นคนกำหนดชนิดและจำนวนขนม แต่ปัจจุบันก็มีร้านที่จัดชุดขนมหมั้นและขนมแต่งงานแบบสำเร็จรูป เพื่อให้เราเตรียมได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ ครอบครัวฝ่ายหญิงอาจร้องขอให้มีการจัดน้ำตาลทราย ซาลาเปาไส้หวาน และคุ้กกี้กระป๋องเพิ่มเติมด้วย โดยต้องจัดไว้เป็นชุดๆ ตามจำนวนญาติมิตรที่มาร่วมงาน
  • ชุดหมูสด ฝ่ายชายจะต้องจัดเตรียมหมูสดเป็น 3 ถาด โดยถาดที่ 1 ประกอบด้วยหัวหมู 1 หัว เท้า 4 ข้าง และหาง 1 หาง ติดตัวหนังสือซังฮี้ ถาดที่ 2 วางขาหมูสดที่ติดตัวหนังสือซังฮี้เช่นกัน และถาดที่ 3 วางเนื้อหมูส่วนท้องของแม่หมู ซึ่งเรียกว่า “โต้วเตี้ยบะ” เพื่ออวยพรให้ฝ่ายหญิงได้อุ้มท้องและให้กำเนิดบุตร
  • ของเซ่นไหว้บ้านเจ้าสาว ให้เตรียมของไหว้เป็น 2 ชุด สำหรับไหว้เจ้าที่เจ้าทาง และไหว้บรรพบุรุษ โดยชุดของเซ่นไหว้ประกอบด้วย ของคาว ขนม ผลไม้ อาหาร 10 อย่าง เหล้า ธูปเทียน ดอกไม้ และเส้นหมี่ ซึ่งเป็นของไหว้พิเศษ สื่อถึงชีวิตคู่อันยืนยาว
  • เถ้าแก่นำขบวนขันหมาก ควรเป็นผู้ใหญ่ที่นับถือ และเป็นผู้มีชีวิตครอบครัวที่ราบรื่น เป็นสุข เชิญให้มาเป็นผู้นำขบวนขันหมาก เพื่อความเป็นสิริมงคล

ลำดับพิธีแต่งงานแบบจีน และพิธียกน้ำชา ละเอียดและเข้าใจง่ายสุด ๆ

3. สิ่งที่เจ้าสาวต้องเตรียม

ตามธรรมเนียมการแต่งงานแบบจีนแล้ว เจ้าสาวที่จะออกเรือนไปอยู่กับครอบครัวเจ้าบ่าว ต้องเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ติดตัวไปด้วย รวมถึงของที่ต้องใช้ในงานพิธี โดยรายการข้าวของที่ฝ่ายหญิงต้องตระเตรียม มีดังนี้

  • เอี๊ยมแต่งงาน เป็นเอี๊ยมสีแดงทำจากผ้าแพร ซึ่งตรงอกเสื้อมีกระเป๋า และปักคำว่า “แป๊ะนี้ไห่เล่า” ซึ่งหมายถึงอยู่กินกันจนแก่เฒ่า
  • เชือกแดงผูกเอี๊ยม ซึ่งติดตัวหนังสือซังฮี้ และมีแผ่นหัวใจสีแดงสำหรับติดเครื่องประดับเพชรทอง
  • ห่อเมล็ดพืช 5 ชนิดเสียบปิ่นทอง และต้นชุงเฉ้า 2 ต้น ใส่ไว้ในช่องกระเป๋าเอี๊ยมแดง ซึ่งเมล็ดพืชสื่อถึงความเจริญงอกงาม และมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง
  • ของใช้ส่วนตัว ได้แก่ ถังน้ำสีแดง 2 ใบ กะละมังสีแดง 2 ใบ กระป๋องน้ำสีแดง 2 ใบ กระโถน ถาดสีแดง กรรไกร ด้าย เข็ม และกระจก อย่างละ 1 ชิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะทางบ้านและความสะดวกของฝ่ายหญิง
  • ชุดเครื่องนอน ได้แก่ ผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม และหมอนข้าง 1 ชุด
  • หวี 4 เล่ม ซึ่งเป็นเคล็ดสื่อว่า มีทรัพย์สินมากมายอยู่เสมอ
  • พัดสีแดง สำหรับให้เจ้าสาวถือตอนส่งตัว
  • กล้วย 1 เครือ เป็นกล้วยสีเขียว ติดตัวหนังสือซังฮี้สีแดง เช่นเดียวกับที่เจ้าบ่าวเตรียมไว้ ซึ่งหลังพิธีแต่งงานจะมอบให้เจ้าบ่าวเอากลับบ้าน
  • ส้มเช้งเขียว จำนวนเลขคู่ ติดตัวหนังสือซังฮี้ทุกลูก เพื่อให้ฝ่ายชายเอากลับบ้านเช่นกัน
  • ชุดหมูสด สำหรับตอบแทนให้ฝ่ายชาย โดยถาดที่ฝ่ายหญิงเตรียม ต้องประกอบด้วยหัวใจทั้งยวงที่มีปอดและตับติดอยู่ด้วย หลังพิธีแต่งงาน ฝ่ายหญิงจะแบ่งหัวใจหมูครึ่งหนึ่งให้ฝ่ายชายเพื่อนำไปประกอบอาหาร เป็นเคล็ดสื่อว่าชายหญิงมีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวกัน
  • คนรับพานขันหมาก 2 คน
  • คนกั้นประตูเงิน-ประตูทอง จำนวนเป็นคู่
  • คนแจกของชำร่วย หรือซองอั่งเปา
  • คนถือตะเกียงนำขบวนรถส่งตัวเจ้าสาว ซึ่งต้องเป็นญาติผู้ชาย เช่น พี่ชายหรือน้องชายเจ้าสาว เพื่อเป็นเคล็ดให้คู่แต่งงานมีบุตรชายไว้สืบสกุล

พิธีหมั้นแบบจีน และการยกขบวนขันหมากจีน

เมื่อมาถึงวันหมั้น ฝ่ายเจ้าบ่าวจะยกขบวนขันหมากและสินสอดทองหมั้นมาที่บ้านเจ้าสาว เพื่อมอบสิ่งของที่เตรียมไว้แก่ครอบครัวฝ่ายหญิง โดยครอบครัวฝ่ายหญิงจะเก็บเครื่องขันหมากไว้ครึ่งหนึ่ง และคืนอีกครึ่งหนึ่งแก่ครอบครัวฝ่ายชาย พร้อมกับเอี๊ยมแต่งงานเสียบปิ่นทอง กล้วย ส้มเช้ง และหัวใจหมูที่เตรียมไว้ เมื่อเสร็จพิธีแห่ขันหมาก เจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็จะสวมแหวนหมั้นต่อหน้าญาติผู้ใหญ่ ญาติผู้ใหญ่จะอวยพรเพื่อเป็นสิริมงคล และตามด้วยการกินเลี้ยงแขกในงาน เป็นอันเสร็จพิธีหมั้น

ลำดับพิธีแต่งงานแบบจีน และพิธียกน้ำชา ละเอียดและเข้าใจง่ายสุด ๆ

ลำดับพิธีแต่งงานจีน และการส่งตัวเจ้าสาว

เมื่อถึงฤกษ์วันแต่งงานและส่งตัว ตอนเช้าเจ้าสาวต้องแต่งตัวให้สวยงามที่สุด โดยสวมชุดแต่งงานแบบจีนเป็นกี่เพ้าสีแดง ปักปิ่นเงิน ปิ่นทอง และใบทับทิมที่แม่เจ้าสาวมอบให้ เมื่อแต่งตัวเรียบร้อย เจ้าสาวจะมาไหว้ฟ้าดิน ไหว้บรรพบุรุษ และทานอาหารมื้อสุดท้ายกับครอบครัว โดยพ่อหรือแม่เจ้าสาวจะเป็นผู้คีบอาหารมงคลส่งให้ ซึ่งอาหารมงคล ประกอบด้วย

  • ปลา สื่อถึงการมีกินมีใช้เหลือเฟือ
  • เห็ดหอม สื่อว่าให้มีชีวิตคู่ที่หอมหวาน
  • ผักกุ้ยช่าย สื่อว่าให้อยู่คู่กันไปยาวนาน
  • ผักเกาฮะไฉ่ สื่อว่าให้เป็นคู่ที่รักกันมาก
  • ไก่ ถือเป็นของมงคล และสื่อถึงความกล้าหาญและเที่ยงตรง
  • ตับหมู สื่อว่าให้มีความเจริญก้าวหน้า
  • หัวใจหมู สื่อว่าให้รักกันเป็นใจเดียว
  • ไส้หมู กระเพาะหมู สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้น
  • ปู สื่อถึงความขยันขันแข็ง คล่องแคล่วว่องไว
  • เส้นหมี่ สื่อว่าให้มีอายุยืนยาว และรักกันยาวนาน

เมื่อถึงฤกษ์งามยามดี ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเดินทางมาที่บ้านเจ้าสาว โดยเจ้าสาวจะนั่งถือพัดแดงรอเจ้าบ่าวในห้อง และให้ญาติๆ เจ้าสาวเป็นผู้ต้อนรับครอบครัวเจ้าบ่าว จากนั้นเถ้าแก่จะพาฝ่ายเจ้าบ่าวเจรจาผ่านประตูเงินประตูทอง เมื่อเข้ามาถึงในบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะต้องไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาว ด้วยเครื่องเซ่นไหว้ที่เตรียมไว้ เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าตนเองและเจ้าสาวจะเป็นครอบครัวเดียวกัน จากนั้นเจ้าบ่าวจะเข้าไปรับเจ้าสาว มอบช่อดอกไม้ให้ และนั่งทานขนมอี๊สีชมพูด้วยกัน เมื่อทานขนมเสร็จจึงกราบลาพ่อแม่ เพื่อจะเดินทางกลับไปบ้านเจ้าบ่าว

ก่อนออกจากบ้าน ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องนำข้าวของเครื่องใช้ที่เตรียมไว้ เช่น เครื่องนอน หมอน กะละมังไปด้วย โดยพ่อเจ้าสาวจะเป็นคนจูงเจ้าสาวขึ้นรถและกล่าวคำอวยพร ในขบวนรถแต่งงาน ญาติเจ้าสาวที่เป็นคนถือตะเกียง จะต้องนำตะเกียงที่จุดสว่างไปด้วย โดยอาจนั่งรถคันเดียวกับเจ้าสาวก็ได้ เมื่อมาถึงบ้านเจ้าบ่าว คนถือตะเกียงจะนำตะเกียงไปวางในห้องนอนและจุดทิ้งไว้ตลอดคืน ซึ่งถ้ากังวลเรื่อความปลอดภัยก็สามารถใช้เป็นตะเกียงไฟฟ้าหรือแบบใส่ถ่านได้ และเจ้าบ่าวก็จะให้อั่งเป่าแก่ญาติที่ถือตะเกียงมาวางให้ตามความเหมาะสม เมื่อเข้ามาในบ้าน เจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องไหว้ฟ้าดิน เจ้าที่ และบรรพบุรุษ เพื่อบอกกล่าวว่าทั้งสองได้แต่งงานกันแล้ว

ฤกษ์ปูเตียง แบบจีน

การปูเตียงสำหรับเข้าหอก็ต้องมีฤกษ์งามยามดีเช่นกัน และผู้ปูเตียงให้ ควรเป็นผู้ใหญ่ที่นับถือซึ่งเป็นคู่สามีภรรยาที่อยู่กินกันมานาน มีศีลธรรมอันดี มีครอบครัวเจริญมั่นคง และแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามประเพณี เมื่อปูเตียงเสร็จแล้ว ให้วางส้มลงบนเตียงมุมละ 1 ผล และอีก 4 ผลวางไว้ในจานที่มีตัวหนังสือซังฮี้ติดอยู่ จากนั้นนำไปวางไว้กลางเตียงพร้อมกับใบทับทิมที่มียอดอ่อน จนกระทั่งถึงวันแต่งงานและส่งตัวบ่าวสาว

ลำดับพิธีแต่งงานแบบจีน และพิธียกน้ำชา ละเอียดและเข้าใจง่ายสุด ๆ

พิธียกน้ำชา

พิธียกน้ำชา มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าพิธี “ชั่งเต๊” ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดในเช้าวันรุ่งขึ้น และเป็นพิธีแสดงความเคารพญาติผู้ใหญ่ตามธรรมเนียมจีน โดยสิ่งของที่ต้องเตรียมคือกาและถ้วยน้ำชานั้นฝ่ายหญิงจะจัดหามา ญาติผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมพิธีจะต้องนั่งตามลำดับอาวุโส โดยญาติฝ่ายชายจะอยู่ซ้ายมือ และคนที่แต่งงานกันจะต้องนั่งด้วยกัน เมื่อเริ่มพิธี บ่าวสาวจะคุกเข่าลงรินน้ำชาใส่ถ้วย วางบนถาด ใช้สองมือยกถาดขึ้นพร้อมกัน และส่งให้ผู้ใหญ่ดื่มจนหมดถ้วย จากนั้นญาติผู้ใหญ่ก็จะอวยพร และให้เงินทองของขวัญ (จังหวะนี้นี่เองที่อาหมวยอาตี๋ คู่บ่าวสาวเชื้อสายไทย-จีน ชอบยิ่งนัก เพราะจะได้ซอง) ซึ่งบ่าวสาวก็จะให้ของตอบแทน เรียกว่าของรับไหว้ โดยอาจเป็นของใช้ทั่วๆ ไป อย่างหมอนอิง ผ้าขนหนู หรือเครื่องแก้วก็ได้ เมื่อเสร็จพิธียกน้ำชา คู่บ่าวสาวจะทานขนมอี๊และขนมบัวลอยร่วมกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่หวานชื่น

วันรุ่งขึ้นหลังพิธี เจ้าสาวจะย้ายไปอยู่กับครอบครัวเจ้าบ่าว และตามธรรมเนียม ฝ่ายหญิงจะต้องยกน้ำล้างหน้าให้พ่อแม่สามี ซึ่งเป็นนัยว่าได้เริ่มทำหน้าที่ของลูกสะใภ้ตั้งแต่วันนี้ โดยการยกน้ำล้างหน้า อาจทำติดต่อกัน 3 วัน หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละครอบครัว

คู่แต่งงานกลับไปเยี่ยมบ้านเจ้าสาว

หลังฝ่ายหญิงแต่งงานออกเรือน จะต้องกำหนดฤกษ์วันกลับมาเยี่ยมครอบครัว ซึ่งอาจเป็น 7 วัน หรือ 15 วันหลังแต่งงานก็ได้ แล้วแต่ฤกษ์งามยามดีของแต่ละคู่ โดยฝ่ายหญิงจะต้องเตรียมส้ม 12 ผลกลับมาด้วย และให้ญาติผู้ชายของฝ่ายหญิงเป็นผู้ไปรับกลับมาเยี่ยมบ้าน เมื่อมาถึงครอบครัวฝ่ายหญิงจะเลี้ยงต้อนรับลูกเขย แล้วนำส้มใส่ตะกร้าไปวางบนหัวนอน ส้มที่นำมานี้จะให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวทานได้เท่านั้น ตามความเชื่อว่าทั้งคู่จะได้มีลูกหลานมากมาย ถึงขั้นนี้ก็เป็นอันเสร็จพิธีแต่งงานแบบจีนทั้งหมด

ทั้งนี้ทั้งนั้น ขั้นตอนและพิธีแต่งงานแบบจีน อาจแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละครอบครัว หรือบางบ้านอาจตัดบางขั้นตอนออกไปเพื่อให้เหมาะสมและสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่ง WeddingReview ขอแนะนำว่า ว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวควรตกลงกันกับครอบครัวทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เข้าใจตรงกัน งานแต่งงานของเราจะได้สำเร็จราบรื่น และถูกต้องตามประเพณีก่อนนะคะ

ติดตามเราได้ที่ เฟสบุ้ค คู่มือจัดงานแต่งงาน by OPONG

คุณอาจสนใจ

Report

What do you think?

0 Points
Upvote
หนีร้อนไปเล่นสกี ที่ Gala Yuzawa Snow Resort แจแปน (เสียงสูง)

รีวิว หนีร้อนไป เล่นสกี ที่ Gala Yuzawa Snow Resort ญี่ปุ่น

การจัด "ขันหมาก" พิธีแต่งงานไทย และการแห่ขันหมาก รวมข้อควรรู้ตามประเพณีไทย

การจัด “ขันหมาก” และการแห่ขันหมาก ในพิธีแต่งงานไทย