กว่าจะโตมาเป็นสาวสะพรั่ง พร้อมจะออกเหย้าออกเรือนขนาดนี้ ถ้าให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูเรามา คงพูดเลยว่าไม่น้อย ไหนจะค่าเทอม ค่ากิน ค่าช็อปปิ้ง ค่าต่างๆ อีกมากมาย แล้ววันหนึ่งจะมีผู้ชายขี่ม้าขาวมาสู่ขอ เราควรตั้งค่า “สินสอดเท่าไหร่ ดีนะ?” เรื่อง สินสอด อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นปัญหา
หากคุณคิดจะแต่งงาน แต่ก็มีอีกหลายๆ คู่ค่ะ ที่ประสบปัญหาเคลียร์เรื่อง “ค่าสินสอด” ที่ไม่ลงตัว ว่ากันว่าไม่สมศักดิ์ศรีของฝ่ายเจ้าสาวบ้าง ให้น้อยแบบนี้พ่อแม่เจ้าสาวจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน? แล้วข้อสรุปของค่าสินสอดจะจบลงอย่างไรไม่มีใครรู้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกันให้ดี ไม่มีกฎตายตัวว่าสินสอดเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม
วันนี้เราเลยนำข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับ “สินสอด เท่าไหร่ถึงจะถูกใจพ่อตา” มาฝากเพื่อนๆ กันค่ะ เผื่อนำเอาไปปรับใช้ว่าจะเรียกค่าสินสอดจากคุณแฟนประมาณไหนดี ให้ทั้งสองฝ่ายแฮปปี้ไม่มีปัญหาตามมา
สินสอด เท่าไหร่ดีนะ การตกลงเรื่องค่าสินสอด
1. ตกลงเรื่องสินสอดกันให้ชัดเจน
หากฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นคนตัดสินใจเรื่องของ ‘สินสอด’ ควรพูดคุยและเจรจากับฝ่ายเจ้าบ่าวให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมามีปัญหาตามมา ทอง 10 บาท เงิน 500,000 บาท หรือเท่าไหร่ก็ระบุให้ชัดเจนไปเลยค่ะ หรือถ้าจะให้ฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนพิจารณาค่าสินสอดก็ควรพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ให้ได้ค่าสินสอดที่พอใจทั้งสองฝ่าย เพราะมีหลายๆ คู่ ที่ให้ฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนเห็นสมควรว่าจะให้เท่าไหร่ สุดท้ายเจ้าบ่าวให้ค่าสินสอดที่ไม่ตรงใจฝ่ายเจ้าสาว ก็กลายเป็นเรื่องอีก ฉะนั้นเลยมองเรื่องนี้ว่า ควรตกลงกันให้ชัดเจนก่อนดีกว่า ปัญหาเรื่องค่าสินสอดจะได้ไม่ตามมาให้ปวดหัว …
2. คํานวณค่าสินสอด
การคำนวณค่าสินสอดไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายหญิงพอใจอย่างไรมากกว่า หากฝ่ายหญิงไม่ติดใจ ก็คุยกันง่าย
โดยในวันที่ผู้ใหญ่มาสู่ขอ ผู้ใหญ่ฝ่ายชายสามารถแนบเคียงเรียงถาม แบบโยนหินถามทาง ว่าทางฝ่ายเจ้าสาวจะว่าอย่างไรดี … หากฝ่ายเจ้าสาวพูดทำนองว่าให้จัดอย่างไรก็ได้ให้สมเกียรติ อาจจะให้เจ้าบ่าวแอบมาถามเจ้าสาวนอกรอบอีกทีเพื่อความแน่ใจ ว่า ‘สินสอดเท่านี้ โอเคหรือเปล่า’ บางบ้านบอกว่าโอเคแต่ตอนหลังไม่โอเค เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือฝากเจ้าสาวมาคุยกับที่บ้านเจ้าสาวอีกทีเพื่อให้แน่ใจ
3. สินสอด … เงินไม่พอ ขอเป็นอย่างอื่นได้ไหมครับ
คงมีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ขนาดเงินยังไม่มี จะเอาอะไรมาเป็นสินสอด ไม่พร้อมแบบนี้ไม่ต้องแต่งงานหรอก! ใจเย็นๆ ก่อนค่ะ ถ้าหากเจ้าบ่าวเขาตัดสินใจจะแต่งงานแล้วเขาคงมีทรัพย์สินที่พร้อมจะเป็นสินสอดแทนเงิน อาจจะเป็นโฉนดที่ดิน แหวนประจำตระกูล หรือทองคำแท่ง หรือของที่มีมูลค่าพอๆ กับเงินสด ทั้งนี้ทั้งนั้นทางฝ่ายเจ้าสาวต้องยอมรับข้อตกลงนี้ให้ได้ก่อนนะคะ ไม่อย่างนั้นมีดราม่าตามมาติด ๆ แน่นอนค่ะ
4. สินสอดเป็นหน้าเป็นตาให้กับครอบครัวทั้งสอง
เสียเงินไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้ คำนี้คงเป็นวลีฮิตของหลายๆ คน จะจัดงานแต่งงานทั้งที ก็คงมีค่าสินสอดนี่แหละ เอาไว้อวดชาวบ้าน คงปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ค่ะ ว่าในการแต่งงานของเราก็จะมีพวกอยากรู้อยากเห็นว่าเราได้สินสอดเท่าไหร่ ถ้าได้น้อยคงเป็นขี้ปากของคนพวกนั้นอย่างแน่นอน ในอดีตการหาค่าสินสอดจะตกเป็นของทางฝ่ายเจ้าบ่าวที่ต้องหามาให้ฝ่ายเจ้าสาวเพื่อให้พ่อแม่ของฝั่งผู้หญิงมั่นใจในตัวเขา ว่าจะดูแลลูกสาวของพวกท่านได้อย่างดี ไม่มีอดตายแน่นอน
แต่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้วค่ะคุณ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่และภาวะสังคมในปัจจุบัน หากจะให้เจ้าบ่าวหาเงินค่าสินสอดงกๆ อยู่คนเดียวอาจจะได้แต่งงานช้าไปอีก 10 ปี
จึงอาจมีญาติฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงช่วยสนับสนุนบ้าง ตามความเหมาะสม
แต่หากมองอีกแง่ มันก็แค่พิธีหนึ่งที่รักษาหน้าตาของทั้งสองฝ่ายเพื่อเอาใจบรรดาญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุธโสเท่านั้น เพราะกลุ่มคนรุ่นนี้กว่า 80 – 90% เชื่อว่ายังคงยึดติดกับธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมอยู่ ก็ลองไม่มีสินสอดมาโชว์ดูสิ รับรองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะโดนนินทาทั้งต่อหน้าและลับหลังแน่นอน แต่ไม่ว่าวิธีการจะเป็นอย่างไร
ผลลัพธ์ที่ออกมาให้เห็นในวันพิธีแต่งงาน มุมมองของแขกผู้ร่วมงานแต่งงานก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับสินสอดเหล่านี้ ความสบายใจของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดค่ะ
5. สินสอด ให้ใคร
นอกจากเรื่อง “สินสอด เท่าไหร่” ยังมีอีกเรื่องที่ห้ามลืมนะ คือ “สินสอด ให้ใคร” เพราะเมื่อถึงเวลามอบสินสอดแล้ว จะทำอย่างไรกับสินสอดต่อไป วิธีจัดการง่าย ๆ กับ “สินสอด” คือ
- ให้เจ้าสาวแอบไปถามฝั่งเจ้าสาวเองว่าจะเอาอย่างไรกับสินสอด จัดงานแต่งเสร็จแล้วคืนเจ้าบ่าวไหม
- ในทางกลับกัน ให้เจ้าบ่าวไปถามพ่อแม่ตัวเองด้วยค่ะ ว่าจะเอาอย่างไรกับ เงินสินสอดและทองหมั้น มีความจำเป็นต้องขอคืนไหม
อันนี้แล้วแต่ แต่ละครอบครัวนะคะ เพราะว่าแต่ละครอบครัวจะมีสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกันค่ะ ให้แต่ละฝ่ายกระซิบถามฝ่ายตัวเอง แล้วมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อไปค่ะ
บทสรุป เกี่ยวกับ “สินสอด” จากประสบการณ์ของทีมงาน
สรุปแล้วประเด็นเรื่อง “สินสอด” เป็นสิ่งที่ตัดสินได้ยาก ไม่มีใครถูกหรือผิด แล้วแต่แต่ละบ้านพอใจ เพราะด้วยไม่มีกฎที่ตายตัวว่า สินสอดเท่าไหร่ถึงจะเป็นที่พอใจ มากไปก็ไม่ไหว น้อยไปก็คงไม่ดีแน่ ๆ … บางบ้านก็ถือเรื่องหน้าตาฝ่ายเจ้าสาวที่จะแต่งงานทั้งทีครั้งเดียวในชีวิต บางบ้านก็ไม่ถือ…
หากใครที่เจอปัญหาเรื่องสินสอด ลองพิจารณาดูอีกครั้งหนึ่งว่าคุณพร้อมที่จะจัดงานแต่งงานหรือเปล่า หรือจะรอให้ทุกอย่างพร้อมกว่านี้ก็ยังไม่มีคำว่าสาย ทางออกที่ดีที่สุดคือการสื่อสารระหว่าง 2 ฝ่าย หากคน 2 คนรักกันจริงก็ต้องพิสูจน์กันให้ได้ โดยนึกถึง ‘ศิลปะในการพูด’ และการรักษาน้ำใจ รู้เขารู้เรา เป็นสำคัญ รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งค่ะ (ขยิบตา!)