แต่งงานแบบล้านนา พิธีแต่งงานชาวเหนือ

แต่งงานแบบล้านนา พิธีแต่งงานชาวเหนือ

เมื่อพูดถึงงานแต่งชาวเหนือ ต้องนึกถึงความสวยงามของบรรดาข้าวของเครื่องใช้ในพิธี แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือรายละเอียดในพิธีที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร แถมยังบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ชาวเหนือได้ดีไม่มีที่ติ ซึ่งปัจจุบันพิธีแต่งงานแบบล้านนา ได้มีการประยุกต์ผสมผสานวัฒนธรรมการแต่งงานแบบภาคกลางเข้ามาร่วมด้วย

โดยพิธีการแต่งงานจะนิยมจัดที่บ้านของฝ่ายหญิง เนื่องจากธรรมเนียมล้านนานิยมให้ผู้ชายไปอยู่กับผู้หญิง ที่บ้านของพ่อแม่ฝ่ายหญิง ดังนั้นเมื่อรักใคร่ชอบพอกัน และมีการหมั้นหมายกันไว้แล้ว ฝ่ายชายจะหาฤกษ์งามยามดีเพื่อจัดพิธีแต่งงานต่อไป โดยมีพิธีดังนี้

1. พิธีขอเขย

โดยผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะเดินทางไปยังบ้านฝ่ายชาย พร้อมพานดอกไม้ธูปเทียนเพื่อทำการ “ขอเขย” ซึ่งก็คือการพูดเชิญผู้ใหญ่ฝ่ายชายให้นำตัวเจ้าบ่าวและญาติพี่น้อง แห่ขันหมากมายังบ้านฝ่ายหญิงให้ทันตามฤกษ์ที่ได้ตกลงกันไว้ แล้วจึงดำเนินพิธีการต่อไป

2. ขบวนขันหมาก

เมื่อถึงวันแต่งงาน เจ้าบ่าวจะนำญาติพี่น้องพร้อมขบวนแห่บายศรีที่มีขันดอกไม้หรือ “ขันอัญเชิญ” พานใส่ขันหมากเอก พร้อมพานใส่ของกำนัลเล็กน้อย ที่เรียกว่า “ขันหมากรอง” ที่บรรจุหมาก ใบเงิน ใบทอง ใบนาก และถุงข้าวเปลือก ข้อว ถั่ว งา ส่วนเพื่อนเจ้าบ่าวในขบวนถือพานใส่เสื้อผ้า ถุง และดาบ เพื่อแสดงฐานะของเจ้าบ่าว

เมื่อขบวนมาถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะต้องจ่ายค่าผ่านประตูให้กับขบวนกั้นประตูเงินประตูทองที่ญาติเจ้าสาวเตรียมมาต้อนรับ หลังจากผ่านด่านครบแล้ว เจ้าบ่าวจะเข้าไปมอบเงินค่าน้ำนมให้กับคุณแม่ของเจ้าสาวเพื่อถืเป็นการตอบแทนพระคุณครอบครัวที่ได้เลี้ยงดูเจ้าสาวมาเป็นอย่างดี

จากนั้นจึงเข้าไปรับตัวเจ้าสาวที่รออยู่ในห้องเก็บตัว

จากนั้นบ่าวสาวจะเข้าสู่พิธีแต่งงานที่เรียกว่า พิธีเรียกขวัญ และผูกข้อมือบ่าวสาว

3. พิธีเรียกขวัญ

พิธีเรียกขวัญ เจ้าบ่าวจะนั่งทางขวา เจ้าสาวนั่งทางซ้าย จากนั้นผู้ประกอบพิธี อาจเป็นอาจารย์ที่นับถือหรือผู้เฒ่าผู้แก่คนสำคัญในบ้าน หรือหมู่บ้าน จะเป็นผู้ทำพิธีเรียกขวัญ ให้กับบ่าวสาว โดยจะเอ่ยเรียกขวัญด้วยภาษาล้านนาที่มีทำนองไพเราะ และทำพิธีปัดเคราะห์ ก่อนจะให้ญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่เจ้าสาวผูกข้อมืออวยพรคู่บ่าวสาว ตามด้วยญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่เจ้าบ่าว ปิดท้ายด้วยญาติสนิทมิตรสหายของทั้งสองฝ่าย

4. พิธีผูกข้อมือ

การผูกข้อมือ จะใช้ฝ้ายดิบหรือฝ้ายไหมผูกที่ข้อมือของบ่าวสาว โดยเจ้าสาวผูกที่ข้อมือซ้าย เจ้าบ่าวผูกที่มือขวา ระหว่างที่ผูกข้อมือก็จะต้องกล่าวคำอวยพรให้แก่บ่าวสาว แล้วจึงมอบซองเงินให้กับคู่บ่าวสาวใส่ในขันสลุง หลังจากนั้นผู้ประกอบพิธีจะเป็นผู้ถอดฝ้ายมงคลออกให้ จึงถือเป็นอันเสร็จพิธี

5. ส่งตัวบ่าวสาว

ก่อนจะถึงการส่งตัวบ่าวสาวซึ่งเป็นพิธีการสุดท้าย จะต้องมีการมัดมือบ่าวสาวไว้ด้วยกันก่อน โดยมัดมือขวาของเจ้าสาวติดกับมือซ้ายของเจ้าบ่าว และให้พ่อแม่หรือบุคคลที่เคารพนับถือเป็นผู้จูงคู่บ่าวสาวเข้าห้อง โดยญาติฝ่ายเจ้าสาวจูงมือข้างที่เหลือของเจ้าสาว (มือข้างซ้าย) ส่วนญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจูงมืออีกข้างของเจ้าบ่าว (มือข้างขวา) แล้วพาเข้าไปยังห้องหอ ซึ่งปูผ้าวางหมอนชุดใหม่ พร้อมโปรยกลีบดอกไม้เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว และต้องไม่ลืมนำบายศรีและขันสลุงที่ใส่เงินทองที่ผู้มาร่วมงานได้มอบให้ตอนมัดมือบ่าวสาวเข้าไปวางเตรียมไว้ด้วย

งานแต่งแบบล้านนาเป็นพิธีที่เรียบง่าย เมื่อส่งตัวเข้าหอเป็นอันจบพิธีแต่งงานแบบล้านนาอย่างสมบูรณ์แล้วค่ะ

Report

What do you think?

0 Points
Upvote
ขั้นตอนพิธีแต่งงานแบบจีน

ขั้นตอนพิธีแต่งงานแบบจีน

ลำดับพิธีแต่งงานไทย

ลำดับพิธีแต่งงานไทย