ลำดับพิธีแต่งงานไทย

ลำดับพิธีแต่งงานไทย

พิธีแต่งแบบไทยๆ ที่คุ้นเคย บ่าวสาวหลายๆ คู่อาจจะเคยเห็น แต่ยังไม่ทราบการจัดงานแต่งงานตามประเพณีไทยแบบสมบูรณ์ทุกขั้นตอน วันนี้เราจึงมีลำดับขั้นตอนพิธีแต่งงานแบบไทยๆ มาฝากกันค่ะ

ลำดับการพิธีแต่งงานเช้าตามประเพณีไทย

ลำดับขั้นตอนที่ 1 : พิธีสงฆ์

นิมนต์พระสงฆ์เพื่อทำพิธีสงฆ์ให้แก่คู่บ่าวสาว ซึ่งถือว่าเป็นพิธีการที่เสริมความเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว
โดยการนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 9 รูปมาประกอบพิธี และทำบุญตักบาตรพร้อมถวายภัตตราหารแด่พระสงฆ์ เป็นการทำบุญในวันสำคัญของตนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองเป็นสิริมงคลในชีวิตคู่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และยังมีความเชื่ออีกว่า ถ้าได้ทำบุญตักบาตรร่วมกันแล้ว จะเป็นคู่กันในชาติภพต่อไปอีกด้วย

ลำดับขั้นตอนที่ 2 : ตั้งขบวนขันหมากเพื่อแห่มาสู่ขอเจ้าสาว

จัดขบวนขันหมากเตรียมตัวรอฤกษ์เคลื่อนขบวนให้แก่เจ้าบ่าว เพื่อที่จะเข้ามาสู่ขอเจ้าสาว โดยจะที่มีทั้ง ขันหมากเอก และ ขันหมากโท แล้วแต่ความต้องการของเจ้าบ่าว

ส่วนทางฝ่ายเจ้าสาวก็จะต้องจัดเตรียมหาญาติหรือตัวแทนมาถือพานเชิญขันหมากเป็นการต้อนรับขบวนขันหมากของฝ่ายชาย โดยปกติจะใช้เด็กผู้หญิงหรือหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานเป็นผู้เชิญพานขันหมาก และมีการกั้นประตูเงิน ประตูทอง เพื่อเพิ่มสีสันและความสนุกสนาน ซึ่งอย่างน้อยควรจะมี 3 ประตู คือ ประตูชัย ประตูเงิน และประตูทอง

ขั้นตอนที่ 3 : พิธีสู่ขอและตรวจนับสินสอด

เมื่อฝ่ายเจ้าสาวรับขบวนขันหมากเสร็จเรียบร้อยแล้ว พิธีการต่อไปก็คือการนำของจากขบวนขันหมากมาจัดวางเรียงกัน ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะนำพานสินสอดออกมาเปิด เพื่อเข้าสู่พิธีนับสินสอด ซึ่งจะจัดวางอยู่บนผ้าแดงหรือผ้าเงินผ้าทอง หลังจากนับสินสอดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันโปรยถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ดอกไม้ ใบเงิน ใบทอง ที่บรรจุมาในพานขันหมากเอกลงบนสินสอด หลังจากนั้น แม่หรือญาติผู้ใหญ่ของเจ้าสาวจะห่อสินสอดด้วยผ้า แล้วแบกขึ้นไว้บนบ่าตามประเพณี

ขั้นตอนที่ 4 : พิธีสวมแหวนหมั้น หรือแหวนแต่งงาน

หลังจากได้ทำพิธีตรวจนับสินสอดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงฤกษ์ดีตามที่กำหนด ฝ่ายเจ้าบ่าวทำการสวมแหวนหมั้นให้ฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นฝ่ายหญิงไหว้ขอบคุณพร้อมกับสวมแหวนแลกกับฝ่ายชาย เมื่อสวมแหวนเสร็จมักจะมีการถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึก และรอเวลาที่จะประกอบพิธีสำคัญต่อไป

ขั้นตอนที่ 5 : พิธีรับไหว้ผู้ใหญ่

พิธีรับไหว้ หรือ พิธีไหว้ผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัวของคู่บ่าวสาว การไหว้พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่นั้น คู่บ่าวสาวต้องก้มกราบ 3 ครั้ง

ส่วนญาติคนอื่นให้กราบครั้งเดียวโดยไม่ต้องแบมือ เมื่อก้มกราบแล้วจึงส่งพานธูปเทียนให้ผู้ใหญ่ ท่านจะรับไหว้พร้อมกับให้พรและใส่ซองเงินหรือของมีค่าอย่างอื่นลงบนพานให้ไว้เป็นเงินทุนในการสร้างครอบครัว

ขั้นตอนที่ 6 : พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร หรือพิธีรดน้ำสังข์

เริ่มจากบ่าวสาวไปนั่งที่ตั่งเพื่อทำพิธีรดน้ำสังข์ ซึ่งเจ้าสาวต้องนั่งด้ายซ้ายของเจ้าบ่าวเสมอ ประธานในพิธีคล้องพวงมาลัย สวมมงคลแฝดบนศีรษะของบ่าวสาว พร้อมกับเจิมที่หน้าผากมงคลแฝด ส่วนแป้งเจิมที่นำมาใช้นั้นเป็นของที่ได้ผ่านพิธีมงคลมาเรียบร้อยแล้ว นั้นประธานหลั่งน้ำอวยพรให้บ่าวสาว ตามด้วยพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ผู้ร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่ และเชิญแขกอื่นๆ เข้ารดน้ำตามลำดับความอาวุโส

ขั้นตอนที่ 7 : พิธีส่งตัวเข้าหอ หรือพิธีปูที่นอน

ขั้นตอนสุดท้ายของพิธี เริ่มจากการจัดปูที่นอนในห้องหอ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของคู่บ่าวสาวในอนาคต โดยพ่อแม่จะเชิญผู้ใหญ่คู่สามีภรรยาที่มีครอบครัวอบอุ่นสมบูรณ์ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมมาช่วยปูที่นอนให้ เพื่อถือเคล็ดให้คู่บ่าวสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ดี โดยผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอนนี้จะเป็นผู้จัดเรียงหมอน 2 ใบ แล้วปัดที่นอนพอเป็นพิธีจากนั้นจัดวางข้าวของประกอบพิธีลงบนที่นอน ได้แก่

  1. หินบดยาหรือหินก้อนเส้า
  2. ฟักเขียว
  3. พานใส่ถุงข้าวเปลือก
  4. งา
  5. ถั่วทองหรือถั่วเขียว
  6. ขันใส่น้ำฝน

มาประกอบพิธีอีกด้วย ซึ่งถือเป็นอันประกอบพิธีแต่งงานเสร็จสิ้น

จากนั้นจะเป็นการเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมงานและปาร์ตี้งานเลี้ยง ในช่วงต่างๆ แล้วแต่งานบ่างสาวต้องการ

ทั้งหมดนี้ เป็นลำดับพิธีงานแต่งแบบไทยๆ พิธีเรียบง่ายตามแบบคนไทย ว่าที่บ่าวสาวคู่ไหนอยากจัดแต่งแบบนี้ ก็สามารถศึกษาข้อมูลเหล่านี้ไปได้นะคะ

Report

What do you think?

0 Points
Upvote
แต่งงานแบบล้านนา พิธีแต่งงานชาวเหนือ

แต่งงานแบบล้านนา พิธีแต่งงานชาวเหนือ

วิธีเลือกชุดแม่เจ้าสาว งานแต่งไทย & งานเลี้ยงกลางคืน

วิธีเลือกชุดแม่เจ้าสาว งานแต่งไทย & งานเลี้ยงกลางคืน