พิธีแต่งงานแบบอีสาน เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมไทยที่สืบสานกันมายาวนาน โดยเรียกกันในภาษาอีสานว่า “การกินดอง” หมายถึง การกินเลี้ยงเพื่อฉลองการเกี่ยวดองเป็นครอบครัวเดียวกัน และพิธีแต่งงานหรือกินดอง จะมีขั้นตอน ดังนี้
1. การสู่ขอ
ฝ่ายชายจะต้องให้ผู้ใหญ่ฝ่ายตน เป็นเถ้าแก่มาสู่ขอหญิงสาวที่ตนเองรักจากผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง หรือเรียกว่า “การโอม” ซึ่งทางฝ่ายชายต้องจัดเตรียมขันหมาก หมากจีบ พลูพัน ใส่ขัน 1 ขัน และใส่เงินลงไป 3 บาท เพื่อเป็นค่าจ้างของพ่อแม่ฝ่ายหญิง หรือเรียกว่า “เงินไขปาก”
2. พิธีแห่ขันหมาก
เจ้าบ่าวและญาติ ๆ จะต้องแห่ขันหมาก เพื่อไปทำพิธีแต่งงานกันที่บ้านของเจ้าสาวในวันที่
3. พิธีสู่ขวัญ
เป็นการผูกข้อมือ กินขาวไข่ โดยหมอสูตรหรือหมอพราหมณ์ จะทำการสวดอวยพรให้แก่บ่าวสาว และนำไข่ต้มบนยอดพาขวัญ (บายศรี) มาแบ่งครึ่งเพื่อให้บ่าวสาวกินกันคนละครึ่งฟอง เรียกว่า ‘ไข่ท้าว’ กับ ‘ไข่นาง’ จากนั้นก็ผูกข้อไม้ข้อมือกัน
4. การขอขมาญาติผู้ใหญ่ หรือ การสมมา
กราบไหว้เพื่อแสดงความเคารพและขอขมา พร้อมผ้าโสร่ง 1 ผืน เสื้อผู้ชาย 1 ตัว ให้แก่พ่อของทั้งสองฝ่าย และผ้าซิ่น 1 ผืน พร้อมด้วยเสื้อผู้หญิงอีกหนึ่งตัวให้แก่แม่ของทั้งสองฝ่าย
5. การปูที่นอนและส่งตัวเข้าหอ
ให้ญาติชายหญิงที่มีฐานะดี รักใคร่กันดี เป็นผู้ปูที่นอนให้บ่าวสาวแล้วทำพิธีนอนเอาฤกษ์ก่อน จากนั้นจึงค่อยจูงเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้าเรือนหอและให้โอวาทในการอยู่ร่วมกัน
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมของคนไทยในภาคอีสานสำหรับใครที่กำลังจะเข้าพิธีแต่งงานไม่ว่าจะแต่งงานด้วยประเพณีแบบไหนเราก็ขอให้มีความสุขกับชีวิตคู่นะคะ