เมื่อความรักของชายหญิงมาถึงช่วงเวลาที่สุกงอมก็ย่อมมาถึงวาระของการแต่งงาน สำหรับพิธีแต่งงานในขั้นตอนต่าง ๆ ก็มีองค์ประกอบอยู่มากมาย แต่ในรายละเอียดของพิธีแต่งงานนั้น มีการทำพิธีแต่งงานตามศาสนาที่คู่บ่าวสาวนับถืออยู่ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาหนึ่งที่สำคัญในโลก อีกทั้งยังเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบสัดส่วนกับศาสนาอื่น ดังนั้นพิธีแต่งงานในรูปแบบอิสลามจึงเป็นพิธีที่ทั้งชาวมุสลิมและคนทั่วไปควรจะมีความรู้บ้างไม่มากก็น้อย WeddingReview ได้รวบรวมข้อมูลพิธีงานแต่งงานของศาสนาอิสลาม มาฝากทุกท่านดังนี้ค่ะ
พิธีแต่งงานของพี่น้องมุสลิมตามแบบศาสนาอิสลามในสมัยปัจจุบันมีความแตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปจากพิธีแต่งงานอิสลามในอดีตอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากมายนักพิธีโดยรวมส่วนใหญ่และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่สำคัญก็ยังคงอยู่เช่นเดิม ขั้นตอนต่าง ๆ ของพิธีแต่งงานอิสลามแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ
1. เริ่มจากการสู่ขอ
ชาวมุสลิมก็มีพิธีการสู่ขอเช่นเดียวกันกับพิธีแต่งงานแบบชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ แต่พิธีสู่ขอในการแต่งงานอิสลามนั้นมีรายละเอียดที่ แตกต่างออกไป ในอดีตการสู่ขอจะเป็นเรื่องที่ญาติของฝ่ายชายที่เป็นผู้หญิงเท่านั้นจะเป็นผู้ไปเจรจาสู่ขอฝ่ายหญิง แต่ในปัจจุบันนิยมให้พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จะเป็นหญิงหรือชาย หรือทั้งหญิงและชายมาสู่ขอฝ่ายหญิงกับผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงก็ได้ โดยขั้นตอนมีดังนี้
- ในวันที่ไปสู่ขอทางญาติฝ่ายชายจะนำของฝากเป็นขนมและผลไม้ไปมอบให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง โดยที่ตัวผู้ชายเองไม่ต้องไปด้วย เมื่อไปถึงบ้านของฝ่ายหญิงและพบผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะกล่าวว่า “ที่วันนี้มา… มีธุระจะปรึกษาด้วย”
- จากนั้นจะถามให้แน่ว่า ผู้หญิงที่จะมาสู่ขอให้ฝ่ายชายไม่ได้มีคู่หมั้นหมายอยู่ก่อนแล้ว จึงจะเอ่ยปากสู่ขอหญิงนั้นให้กับฝ่ายชาย
- เมื่อญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงได้ฟังคำทาบทามสู่ขอแล้ว จะไม่กล่าวตอบตกลงหรือปฏิเสธโดยทันที และจะไม่พูดถึงเงื่อนไขรายละเอียดอะไรทั้งสิ้น แต่จะทิ้งระยะเวลาไปประมาณ 1 สัปดาห์
- ครบเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ … ถ้าหากฝ่ายหญิงตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกับฝ่ายชายก็ให้ตอบตกลง โดยส่งผู้ใหญ่ที่นับถือเป็นผู้ไปบอก จากนั้นฝ่ายชายจะมานัดคุยเจรจาในรายละเอียดของการแต่งงาน เช่น กำหนดวันที่จะแต่งงาน สินสอดทองหมั้นที่จะให้ฝ่ายหญิง รวมถึงรายละเอียดอื่น ๆ
- แต่ถ้าฝ่ายหญิงไม่คิดตก ไม่อยากตกลงปลงใจ และ อยากปฏิเสธการสู่ขอ … ฝ่ายหญิงก็จะเงียบไป ซึ่งจะเป็นอันรู้กันทั้งสองฝ่ายว่าไม่ตกลงแต่งงานด้วยนั่นเอง
2. พิธีการหมั้นหมาย
การหมั้นหมายแบบอิสลามนั้นปัจจุบันแตกต่างไปจากสมัยก่อนตรงที่ คู่บ่าวสาวจะเลือกหมั้นก่อนแต่งงานหรือก่อนพิธีแต่งงานหรือนิกะห์ หรือจะหมั้นหลังพิธีแต่งงานก็ได้ โดยความแตกต่างของช่วงเวลาหมั้นหลังแต่งงานกับการหมั้นก่อนแต่งงานก็คือ
- ถ้าหมั้นก่อนแต่งงาน … ในพิธีการหมั้นเจ้าบ่าวและเจ้าสาวยังคงแตะเนื้อต้องตัวกันไม่ได้ เพราะถือว่ายังไม่ได้แต่งงานกัน ดังนั้นในช่วงเวลาหมั้นก็จะไม่มีภาพของการสวมแหวนหรือการถ่ายรูปคู่หวาน ๆ ใกล้ชิดแตะเนื้อต้องตัวกัน
- บ่าวสาวหลาย ๆ คู่ในปัจจุบันจึงนิยมหมั้นหลังพิธีแต่งงาน เพราะจะได้มีการสวมแหวนหมั้น หรือเครื่องประดับต่าง ๆ ที่เป็นของหมั้นให้กันเจ้าสาวได้
พิธีหมั้นอิสลาม จะเริ่มขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 4-5 โมงเย็น โดยฝ่ายเจ้าบ่าวจะจัดขบวนขันหมากมายังบ้านของเจ้าสาว โดยลำดับขั้นตอนมีดังนี้
- เมื่อขบวนขันหมากจากเจ้าบ่าวเดินทางมาถึงบ้านเจ้าสาว เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะกล่าว ขึ้นว่า วันนี้เจ้าบ่าว ชื่อ… ได้นำของมาหมั้นเจ้าสาว ชื่อ…
- จากนั้นผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวก็จะรับของหมั้น แล้วเถ้าแก่ของเจ้าบ่าวจะถามว่า เงินหัวหมั้นมีจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นก็จะเป็นการพูดคุยตกลงกันในรายละเอียดงานแต่งงาน
- เมื่อฝ่ายชายจะกลับ ฝ่ายหญิงจะเตรียมผ้ากาเฮงแปลก๊ะ (ผ้าโสร่งชาย) หรือจะเป็น กาเฮงปาเต๊ะลือป๊ะ (ผ้าดอกปล่อยชายผ้า) อย่างใดอย่างหนึ่ง ใส่ลงไปในพานหมากพลูแทนหมากพลูและของหมั้น
- จากนั้นก็นำพานนั้น รวมทั้งพานอื่น ๆ ที่เจ้าบ่าวนำมาให้ คืนให้กับเจ้าบ่าวนำกลับไปด้วย ก็เป็นอันเสร็จพิธีหมั้น
ของร่วมขบวนหมั้น หรือ ขันหมากอิสลาม ประกอบไปด้วยพาน 3 พานด้วยกัน สิ่งที่ใส่ลงไปในพานทั้ง 3 คือ
- พานแรกเป็นหมากพลู โดยใต้หมากพลูจะนิยมวางสินสอดไว้ เงินนี้เรียกกันว่า เงินรองพลู หรือ ลาเปะซีเฆะ
- พานที่สอง คือ ข้าวเหนียวเหลือง
- พานที่สามเป็นขนมสามอย่าง คือ ขนมข้าวพอง ขนมก้อ หรือ ดูปงปูตู และ ขนมก้อตาล หรือ ดูปงฮะลูอคีแม และพานขันหมากทั้งสามจะต้องถูกห่อด้วยผ้าสีสวย
3. พิธีแต่งงานอิสลาม หรือ พิธีนิกะห์
มาถึงขั้นตอนที่สำคัญคือการแต่งงานหรือที่เรียกว่า “พิธีนิกะห์” นิยมจัดขึ้นหลังจากพิธีหมั้นไม่เกิน 2 สัปดาห์ ชาวมุสลิมและข้อห้ามตามบัญญัติศาสนาอิสลามจะไม่ให้มีการถือฤกษ์ถือยามใด ๆในคืนก่อนวันแต่งงานที่บ้านฝ่ายเจ้าสาวจะครึกครื้นเต็มไปด้วยญาติและเพื่อนที่มาช่วยงาน ทำกับข้าวและจัดแต่งสถานที่เพื่อรับขบวนเจ้าบ่าวเมื่อใกล้เวลาเพื่อน ๆ และญาติจะช่วยแต่งตัว เตรียมตัวให้เจ้าสาว ในการกำหนดพิธีแต่งงานฤกษ์ที่ดีก็คือฤกษ์ที่ได้ตกลงกันสะดวกทั้งสองฝ่าย เมื่อถึงวันแต่งงานในช่วง 4-5 โมงเย็น เจ้าบ่าวจะจัดขบวนไปยังบ้านเจ้าสาวประกอบไปด้วย เจ้าบ่าวกับญาติผู้ใหญ่ประมาณ 5-6 คน และเงินหัวขันหมากที่เจ้าบ่าวเป็นผู้ถือเตรียมไปมอบให้เจ้าสาวเป็นจำนวนเลขคี่ ห่อสวยงามมีกล้วย 2-3 หวี ที่คัดพันธุ์มาแล้ว
ในส่วนของฝ่ายเจ้าสาวจะต้องมีผู้ร่วมพิธีสำคัญ คือ
- โต๊ะอิหม่ามเป็นผู้ประกอบพิธี
- คอเต็บและผู้ทรงคุณธรรมเป็นสักขีพยานในพิธีอีก 1 คน โดยผู้ทรงคุณธรรมนั้นคือผู้ที่ชุมชนนับถือเป็นคนประพฤติดีมีสัตย์ เช่น นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน
ลำดับพิธีแต่งงานอิสลาม
เมื่อขบวนของเจ้าบ่าวมาถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว …
- เจ้าบ่าวจะมอบเงินหัวขันหมากให้กับโต๊ะอิหม่ามและมีการเลี้ยงรับประทานอาหารกัน แต่ในช่วงเวลาเหล่านั้นเจ้าสาวจะถูกเก็บตัว ในห้องหอหรือในครัวก่อน
- เมื่อกินเลี้ยงเสร็จจะมีคนไปถามความสมัครใจของเจ้าสาวร่วมกับพยานอีกสองคน ถ้าเจ้าสาว ตกลงเต็มใจแต่งพยานรู้เห็นก็จะเข้าสู่พิธี โดยพ่อหรือญาติผู้ใหญ่ของเจ้าสาวที่เป็นผู้ชายจะเป็นผู้ดำเนินการ ที่เรียกว่า “วอเก” ต่อโต๊ะอิหม่าม
- จากนั้นโต๊ะอิหม่าม หรือ คอเต็บ จะอ่าน บาจอกุฐตีเบาะห์ คือ ศาสนบัญญัติว่าด้วยการแต่งงาน
- เมื่ออ่านจบ โต๊ะอิหม่ามจะจับปลายนิ้ว มือ 1 นิ้วของเจ้าบ่าวแล้วกล่าวคำสำคัญในการแต่งงานให้เจ้าบ่าวขานตอบกลับจึงเสร็จสิ้นพิธีแต่งงาน
พิธีแต่งงานอิสลามนับว่าเป็นพิธีที่งดงามศักดิ์สิทธิ์ แสดงถึงวัฒนธรรม ความผูกพันกันในเครือญาติและชุมชน เป็นการเริ่มต้นสถาบันครอบครัวที่สวยงามและยั่งยืน WeddingReview หวังว่าทุกท่านจะได้ข้อมูลสำหรับเตรียมตัวแต่งงาน และหากต้องการรีวิวเพิ่มเติม เรามีบทความที่เกี่ยวข้องมาฝาก ดังนี้ค่ะ
- จัดงานแต่งงานพิธีอิสลาม ในสวน ณ วังดินสอ
- รีวิวจัดงานแต่งงานในสวน สไตล์คุณเมษ คุณทอม ที่ ‘วังดินสอ’
- คอร์สเรียน Wedding Review คู่มือจัดงานแต่งงาน