“แต่งงาน” คำนี้มีความหมายสำคัญสำหรับคนส่วนใหญ่ เมื่อเราได้พบกับคนที่เรารักและถูกใจจนอยากใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ร่วมกันตลอดไป แต่เรื่องเงินนี่สิปัญหาใหญ่ ทั้งการ “เก็บเงินแต่งงาน” เรื่องค่าสินสอดทองหมั้น ค่าจัดงานแต่งงาน ค่าเดินทางท่องเที่ยวฮันนี่มูน ถ้าเป็นคู่มีมีฐานะดีก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่สำหรับคนชั้นกลางส่วนใหญ่อาจไม่ใช่ ถ้าจะให้มีเงินพอแต่งงานได้ควรจะต้องมีการวางแผนกันหน่อยนะ จริงไหม และ WeddingReview ก็มีคำแนะนำในการเก็บเงินแต่งงานมาฝากทุกท่านที่นี่ค่ะ
ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง: คำนวณค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงาน
วิธีเก็บเงินแต่งงาน
1. รวบรวมค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานทั้งหมดก่อน
สิ่งแรกที่ต้องรู้ก่อนก็คือ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานทั้งหมดเป็นเท่าไหร่ ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่แนะนำว่าต้องรอให้พร้อมอย่างสุด ๆ ก่อนค่อยแต่ง เนื่องจากน้อยคู่นักที่จะมีโอกาสพร้อมอย่างที่สุด เช่น มีทั้งบ้าน รถ มีเงินเก็บตามเป้าหมายทุกประการก่อนแต่ง ขอบอกว่ามีน้อยราย น้อยมากที่ทำได้ และเห็นหลายรายที่ยังไม่ทันทำได้ถึงเป้าหมายอันใหญ่โตที่ฝันไว้ ก็มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนใจไปหาคนอื่นเรียบร้อยแล้ว ชีวิตคู่จึงไม่จำเป็นต้องพร้อมทุกอย่างก่อน WeddingReview จึงอยากแนะนำหนทางที่มีความเป็นไปได้สูงสุดสำหรับคนทั่วไปก่อน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการแต่งงานคือจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่ที่ต้องร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมสร้างฐานะทางการเงินด้วยกันต่อไป ไม่จำเป็นต้องมีความพร้อมทางฐานะเสมอไปทุกรายก่อนจึงค่อยแต่งงาน สำหรับคู่ส่วนใหญ่จึงควรตั้งเป้าหมายเบื้องต้นไว้ที่
- ค่าสินสอดทองหมั้น
- ค่าจัดงานแต่งงานก่อน เป็นเบื้องต้น
เมื่อสาวเจ้าถูกขอแต่งงานจากหนุ่มในฝันที่ถูกใจแล้ว หากตกลงปลงใจด้วยก็ควรไปปรึกษาหารือกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองว่าค่าสินสอดทองหมั้นควรเป็นเท่าไหร่ เอาตามพอเหมาะพอควรแก่ฐานะของฝ่ายชายด้วยนะ รวมถึงเจตนารมณ์ของพ่อแม่ฝ่ายหญิงด้วย เพราะบางคนมีเจตนาจะยกค่าสินสอดทองหมั้นกลับคืนให้คู่บ่าวสาวไปเพื่อตั้งตัวเริ่มต้นชีวิต ถ้าเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรกก็อาจไม่น่าห่วงเพราะเจ้าบ่าวอาจขอยืมเงินพ่อแม่ญาติพี่น้องของตนบางส่วนมาสมทบกับเงินเก็บของตนเองให้เพียงพอกับค่าสินสอดทองหมั้นได้
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการจัดงานแต่งงาน
ค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงานก็เป็นค่าใช้จ่ายหลัก ควรต้องไปสอบถาม
- ค่าบริการจัดงานแต่งงาน
- ค่าเช่าสถานที่ ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม รีสอร์ท ภัตตาคาร
- หรือ จะจัดที่บ้านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วสั่งอาหารมาจัดเลี้ยง เป็นต้น
WeddingReview แนะนำให้ควรดูว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่กันบ้าง หรือ อาจจะไปปรึกษาหารือกับบริษัทรับจัดงานแต่งงานดูเพื่อจะได้ทราบงบประมาณคร่าวๆก่อนก็ได้ จะได้นำมาเลือกดูว่าทางเลือกใดที่เหมาะสมกับฐานะของทั้งคู่ แต่ไม่แนะนำให้ทำอะไรเกินฐานะจนเกินไป เช่น กู้เงินจำนวนมากมาจัดงานแล้วต้องตามใช้หนี้ก้อนใหญ่ เป็นต้น เพื่อที่ชีวิตหลังแต่งงานจะได้เป็นสุข ไม่ต้องทุกข์ใจกับหนี้สินจากการจัดงานแต่งงาน
ต่อมาก็หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่จะไปพักผ่อนหรือฮันนี่มูนหลังแต่งงาน ซึ่งหากคู่ใดมีงบเยอะก็ไปต่างประเทศได้ แต่หากงบน้อยก็เที่ยวในประเทศ หรือในจังหวัดตัวเอง หรือ ใกล้เคียงก็ได้ เพราะความรักนั้นขึ้นอยู่กับการมีคนที่รักอยู่เคียงข้างกัน มากกว่าสถานที่ว่าไปที่ไหน จริงไหมจ๊ะ
เมื่อได้งบประมาณสำคัญมาครบถ้วนแล้ว ก็ถือเป็นเป้าหมายที่ต้องเก็บเงินให้ได้ตามงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อจะได้แต่งงาน ต่อมาก็ดูระยะเวลาเก็บเงินว่ามีเวลาเก็บเงินกี่เดือน หรือ กี่ปีก่อนถึงวันกำหนดแต่งงาน หากมีรายได้น้อยก็อาจเผื่อเวลาไว้นานหน่อยนะ โดยอาจเก็บเงินตามคำแนะนำต่อไปนี้
2. เริ่มทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตนเองเพื่อที่จะได้รู้ชัดเจนว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็น จะได้ลดหรือตัดออกไปได้ เช่น
- ค่าบุหรี่
- เหล้า
- หวยชุด
- การพนัน
- เที่ยวกลางคืน
- การทานอาหารร้านหรูราคาแพงเป็นประจำ
- ซื้อเสื้อผ้าราคาแพง
- เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือใหม่บ่อยเกินไป
- หรือ เรื่องอื่นๆ ที่หากคุณ งด ลด เลิก แล้ว นอกจะทำให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้น
ยังจะสร้างความประทับใจให้แฟนคุณได้อีกด้วย ที่คุณยอมปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีของชีวิตคู่
3. เปิดบัญชีเงินฝากสำหรับเตรียมจัดงานแต่งงานร่วมกัน
เปิดบัญชีเงินฝากร่วมกันเป็นบัญชีแยกต่างหากจากบัญชีส่วนตัวของแต่ละคน เพื่อจะนำเงินที่หาได้หรือประหยัดได้มาฝากร่วมกันไว้เป็นเงินสะสมเพื่อการแต่งงาน วิธีนี้จะเป็นการทำให้ทั้งคู่เห็นความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นขอเงินที่ทั้งคู่ช่วยกันเก็บหอมรอมริบ มีกำลังใจมากขึ้นเมื่อเห็นจำนวนเงินเข้าใกล้เป้าหมายทีละนิด ๆ
อาจนำเงินเก็บไปซื้อ
- สลากออมสิน
- สลาก ธกส.
เพราะมีความเสี่ยงน้อยและมีโอกาสถูกรางวัลใหญ่แต่เงินต้นยังอยู่ครบ ไม่แนะนำให้ไปลงทุนเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงใดๆ เช่น เล่นหุ้น หรือ เก็งกำไรเงินตราต่างประเทศ หรือเก็งกำไรในบิทคอยน์ เพราะหากผิดพลาดขาดทุนหนักขึ้นมา ทั้งคู่จะทะเละเบาะแว้งกัน แล้วเป้าหมายการแต่งงานก็จะยิ่งห่างไกลออกไปอีก WeddingReview เคยเจอคู่รักที่เสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย กล่าวคือ มีเงินอยู่แล้ว แต่เสียดายไม่อยากใช้ในงานแต่งงาน จึงนำไปลงทุนเสียหน่อย หวังว่าจะได้อะไรกลับมาบ้าง แต่กลายเป็นว่าเสียไปหมด ทีนี้ก็กลายเป็นปัญหาใหม่อีกหัวข้อไปเลย
4. หารายได้เสริม เพิ่มรายได้
หารายได้เสริมนอกจากงานประจำ ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพนักงานกินเงินเดือน หรือ ข้าราชการ หากเงินเก็บจากเงินเดือนไม่เพียงพอ WeddingReview แนะนำว่าอาจจะต้องหารายได้เสริมในเวลาหลังเลิกงาน หรือ วันหยุด เพิ่มเติมตามแต่ความถนัดความสนใจของแต่ละคน หรือ อาจช่วยกันทำงานหารายได้เสริมก็ยิ่งดี จะได้เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น แถมยังทำให้เป้าหมาเงินเก็บเพื่อการแต่งงานเข้าใกล้ความจริงเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีลู่ทางหารายได้เสริมมากมายหลายวิธี เช่น
- ขายของออนไลน์
- ขายของตลาดนัด
- ทำอาหารหรือขนมส่งในพื้นที่ใกล้บ้าน
- เป็นติวเตอร์สอนพิเศษ
- ขายตรง
- ขายประกัน
เป็นต้น โดยหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ต่างๆมากมาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่ารอคอยวาสนานะ ได้มีโอกาสเจอหลายคู่ที่ยิ่งรักกันมากขึ้นเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นไปอีกจากการช่วยกันทำมาหากิน ช่วยกันเก็บเงินตั้งแต่ยังไม่ได้แต่งงานกันนี่แหละ
5. เก็บเงินแต่งงาน เงินเดือน 15,000
ยกตัวอย่าง การหาเงินและเก็บเงินของคนที่มีเงินเดือน 15,000 บาท
- รายได้ 15,000 บาท
- รายได้เสริม 5,000 บาท
- รายจ่าย
-
- ค่าเช่าห้อง (รวมค่าน้ำค่าไฟ) 5,000 บาท
- ค่าเดินทาง (80 บาท x 30 วัน) 2,400 บาท
- ค่าอาหาร (150 บาท x 30 วัน) 4,500 บาท
- ค่าโทรศัพท์ 500 บาท
- ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด 600 บาท
รวม รายจ่าย 13,000 บาท คงเหลือ 2,000 บาท
เก็บเงินแต่งงาน 1 ปี จะเก็บได้เท่าไร?
หากเก็บเป็นงบประมาณแต่งงานเดือนละ 5,000 บาท ต่อคน ถ้าฝ่ายหญิงช่วยเก็บด้วยอีก 5,000 บาท ก็จะได้ 10,000 บาท ต่อเดือน หรือปีละ 120,000 บาท แบบนี้ภายใน 2 ปี หากต้องการมีเงินเก็บเพื่อการแต่งงาน 240,000 บาท ก็อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้
เมื่อเวลาผ่านไป 3 – 4 เดือน ดูเงินเก็บในบัญชีร่วมกันของทั้งคู่ก็จะเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้แล้วว่าด้วยอัตราการเพิ่มของเงินเก็บร่วมกันเก็บนี้ ยอดเงินจะถึงเป้าหมายภายในเวลาประมาณกี่เดือนหรือกี่ปี ต้องประหยัดอะไรเพิ่มขึ้น หรือ ต้องทำงานเสริมอะไรเพิ่มขึ้น เป็นต้น ถ้าเห็นว่าต้องใช้เวลาอีกนานเกินไปกว่าจะถึงเป้าหมาย ก็อาจต้องลดเป้าหมายลงเช่น เปลี่ยนสถานที่จัดงานแต่งงาน ขอลดค่าสินสอดทองหมั้น หรือ เปลี่ยนสถานที่ฮันนี่มูน เป็นต้น แต่ถ้าหากเห็นว่าอัตราการสะสมเงินเพื่อการแต่งงานเป็นไปตามเป้าหมาย หรือ น่าจะเร็วกว่าเป้าหมาย ก็จะทำให้สามารถจัดงานที่ใหญ่ขึ้น หรือ ไปฮันนี่มูนได้หรูหราขึ้น มีเงินเก็บเพื่อเริ่มต้นชีวิตคู่มากขึ้น สามารถหาฤกษ์งามยามดีเพื่อแต่งงานให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก เพราะประเทศเราอยากได้ประชากรตัวน้อยๆเพิ่มขึ้น มีเด็กเล็กๆน่ารักเกิดมาเป็นกำลังใจและเป็นที่ชื่นชมของพ่อแม่ปู่ย่าตายายต่อไป
WeddingReview ขอให้คู่รักทั้งหลายได้แต่งงานกันโดยเร็ว เก็บเงินแต่งงานกันได้เร็วไว และ มีความสุขกับชีวิตคู่ตลอดไป นะจ๊ะ
ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง: คำนวณค่าใช้จ่ายในการจัดงานแต่งงาน
บทความที่คุณอาจสนใจ