บทความนี้ OPONG ทีมงาน WeddingReview จะมาเล่าประสบการณ์จดทะเบียนสมรส และ เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส พร้อมเกร็ดเรื่องราวสนุก ๆ สำหรับว่าที่บ่าว – สาว ที่ได้ตัดสินใจสละโสด
รายละเอียดเป็นอย่างไรบ้าง ติดตามได้ทีนี่เลยค่ะ
เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส
- บัตรประจำตัวประชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาหนังสือเดินทาง (กรณีชาวต่างประเทศ)
- หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือสถานกงสุลหรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้น มอบหมาย พร้อมแปล (กรณีชาวต่างประเทศขอจดทะเบียนสมรส)
หมายเหตุ: สำหรับคนไทย เตรียมแค่ข้อ 1 – 2 ค่ะ
แค่ 2 อย่างนี้เท่านั้นค่ะสำหรับคนไทยทั้งคู่ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปแล้ว และไม่เคยสมรสมาก่อน แต่ใครอยากจะเอาเอกสารอื่นๆไปเผื่อเหลือเผื่อขาด เผื่อให้อุ่นใจ ก็ขนกันไปได้ตามสบายใจค่ะ (บางทีบ้านอยู่ไกล บางคนกลัวกังวลเอาไปไม่ครบเนาะ เอกสารเปลี่ยนชื่อ ฯลฯ ต่างๆนาๆ จะเอาไปเผื่อให้อุ่นใจก็ได้ไม่เสียหาย โอก็เอาไปเผื่อนะ แต่ไม่ได้ใช้)
วิธีจดทะเบียนสมรส ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส
- เมื่อเดินทางถึงเขต ติดต่อประชาสัมพันธ์ แจ้งมาจดทะเบียนสมรส รอคิวติดต่อนายทะเบียนหรือเจ้าหน้าที่
- เมื่อพบนายทะเบียน หรือ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการ ก็จะมีการซักถามเล็กน้อยเกี่ยวกับอาชีพ และ ข้อมูลทั่วไปค่ะ เช่น ทำอาชีพอะไร เคยแต่งงานมาก่อนมั้ย ฯลฯ
- ขั้นตอนตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ซึ่งจะมีการสอบถามและให้คู่สมรสระบุความจำนง เช่น เรื่องการเปลี่ยนนามสกุล ฝ่ายหญิงจะเปลี่ยนไหม? จะเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อไหม? และต้องการบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือไม่?
- เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลลงในทะเบียนสมรส ออกใบสำคัญการสมรสให้เรา
- คู่สมรสลงลายมือชื่อ และนายทะเบียนลงลายมือชื่อ เป็นพยาน เป็นอันเสร็จ
ฤกษ์จดทะเบียนสมรส
จะจดทะเบียนสมรส ต้องดูฤกษ์ไหม?
ตอบ: ดูได้ค่ะ ดูวันที่อะได้ เอาตามที่สบายใจได้เลย …แต่… เวลาที่จดทะเบียนสมรส ไม่สามารถระบุเองได้นะคะ ถ้าหากไปจดด้วยตัวเองที่เขตก็เป็นแบบนี้ค่ะ เราลองมาแล้วค่ะ (หัวเราะแห้ง ๆ) ระบบจะบันทึกเวลาลงไปอัตโนมัติ ตั้งแต่วินาทีที่เจ้าหน้าที่เริ่มพิมพ์ข้อมูลเราลงใน COMPUTER ค่ะ (ถ้าจำไม่ผิดนะ คือ จำได้ว่าระบบจะใช้เวลาที่เจ้าหน้าที่เริ่มพิมพ์)… แต่ถ้าหากเป็นการจดนอกสำนักทะเบียน อันนี้ไม่ทราบค่ะ หากสนใจ สอบถามเพิ่มเติมจากสำนักทะเบียนกันดูนะจ๊ะ Call Center 1548
จดทะเบียนสมรสตามเวลาฤกษ์
ตอบ: ถ้าไปจดที่เขต คงต้องไปรอก่อนเวลาฤกษ์พอสมควร ให้นายทะเบียนหรือเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารและความจำนงต่างๆ พอได้เวลาฤกษ์ปุ๊บ เจ้าหน้าที่ก็ต้องพร้อมกรอกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ทันที (ถ้านายทะเบียนเป็นคนกรอกข้อมูลลงคอมเองก็คงอดจ้า ฮร่าๆ) ระบบจะบันทึกเวลานั้นไว้ซึ่งแก้ไม่ได้ค่ะ ของเราเจอเจ้าหน้าที่อารมณ์ดี ช่วยทดสอบลองแก้เวลาให้หายข้องใจ สรุปก็แก้ไม่ได้จริงๆ หายอยากไปเลย
หากเป็นคนต่างจังหวัด สามารถจดทะเบียนสมรสที่กรุงเทพได้ไหม?
ตอบ: ได้ค่ะ เราเองฝ่ายเจ้าสาวก็เป็นคนต่างจังหวัด ไม่ได้เกิดที่กรุงเทพ ส่วนสามีเป็นคนกรุงเทพ ก็จดได้ค่ะ ไม่มีปัญหาอะไร ระบุไว้ที่ การจดทะเบียนสมรส ในเว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียนค่ะ
“คู่สมรสยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขตใดก็ได้ โดยไม่คำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส”
จดทะเบียนสมรสที่ไหนดี?
ตอบ: เอาตามที่สบายใจเลยค่ะ ทีแรกเราไปบางรัก … ไปตอนบ่าย 2 !! พระเจ้าช่วย คนเยอะมาก ไม่ไหวแล้ว คิวก็เต็มแล้วด้วย ถ้าจะไปบางรัก แนะนำให้ไปตั้งแต่เช้าๆๆ เลยค่ะ สรุปได้ไปจดที่เขตอื่นใกล้ๆกันแทนค่ะ ปรากฏว่าเขตนั้นไม่มีคนเลย คนคงแย่งกันไปบางรักกันหมด ถ้าคนรักของคุณเป็นชาวต่างชาติ แนะนำให้เผื่อเวลาสำหรับตรวจสอบเอกสารและคุยเรื่องข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าด้วยนะคะ เพราะจากที่สอบถามจากเจ้าหน้าที่มา ได้ความว่าหากจดกับชาวต่างชาติ จะใช้เวลานานกว่าคนไทย เพราะต้องสอบถามข้อมูลและตรวจสอบเอกสารหลายสิ่งตามขั้นตอนของสำนักทะเบียนค่ะ
เขตที่เหมาะกับการจดทะเบียนสมรส
ตอบ: นอกจากบางรักแล้ว บางคนก็ดูชื่อเขตที่ฟังดูน่ารัก ดูเป็นมงคล ดูไพเราะกลมเกลียว เหมาะกับคน 2 ตระกูลมาเกี่ยวดองกัน เช่น เขตสัมพันธวงศ์ บางคนก็เลือกที่ถูกใจ เช่น เขตพระนคร เขตวัฒนา เขตวังทองหลาง เขตทวีวัฒนา ส่วนคุณแม่เราก็อารมณ์ดี ช่วยแนะนำ บางรักดีไหมลูก สัมพันธวงศ์ดีไหมลูก … แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ถามของแม่ ว่าแม่กับพ่อจดที่ไหน … ปรากฏว่าท่านทั้ง 2 จดที่บางเขนจ้า จึงเป็นที่มาของบทสรุปที่ว่า … จะจดที่ไหนก็ได้ เอาเถอะน้า ตามที่บ่าวสาวชอบและสะดวกดีที่สุดค่ะ ถ้าเราสบายใจ จดที่เขตไหนก็ดี มีความสุขค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับวิธีการจดทะเบียนสมรสพร้อมประสบการณ์ที่ WeddingReview นำมาฝากทุกคน หวังว่าทุกท่านจะจดทะเบียนสมรสได้อย่างราบรื่น แต่งงานอย่างมีความสุขนะคะ