การจัด “ขันหมาก” และการแห่ขันหมาก ในพิธีแต่งงานไทย

ขันหมากในพิธีแต่งงานแบบไทย เตรียมอย่างไร จัดอย่างไร ให้ถูกต้องตามประเพณี?

การจัด "ขันหมาก" พิธีแต่งงานไทย และการแห่ขันหมาก รวมข้อควรรู้ตามประเพณีไทย

ในพิธีแต่งงานแบบไทยที่เราเห็นกันบ่อย  ๆ หนึ่งในสีสันของงานที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ ขบวนแห่ขันหมาก นี่แหละ เพราะเป็นพิธีที่ญาติมิตรทั้งฝั่งเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะได้มีส่วนร่วม และได้เฮฮาร้องเล่นกันสนุกสนาน แต่รู้ไหมว่านอกเหนือจากสีสันเหล่านั้นแล้ว การแห่ขันหมากนั้นถือเป็นประเพณีที่มีมาช้านาน และมีขั้นตอนที่เป็นพิธีรีตอง สิ่งของและลำดับการยืนในขบวนก็มีการกำหนดไว้อย่างเป็นแบบแผน ในคราวนี้ WeddingReview จึงนำข้อมูลสำคัญที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวที่จะเข้าพิธีแต่งงานแบบไทยจะต้องใช้ เกี่ยวกับ ขันหมาก การจัดขันหมาก และขบวนแห่ขันหมาก ว่าเราต้องเตรียมตัวยังไง ใช้อะไรบ้าง และมีลำดับขั้นตอนในพิธีอย่างไร เพื่อให้เราจัดพิธีได้อย่างถูกต้องตามประเพณีนั่นเอง

ไว้อ่านทีหลัง

การจัด "ขันหมาก" พิธีแต่งงานไทย และการแห่ขันหมาก รวมข้อควรรู้ตามประเพณีไทย

ที่มาของการแห่ขันหมาก

การยกขันหมาก สำหรับสู่ขอ เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ประเพณีอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย เพราะธรรมชาติของประเพณีนั้น มนุษย์จะเลือกทำในสิ่งที่สะดวกและเหมาะกับยุค ประเพณีใดที่ไม่สะดวกทำก็มักจะเลือนหายไป

ผู้ใหญ่ในสมัยโบราณยึดถือประเพณี และคงมั่นกับความเหมาะสม และการให้เกียรติ สมัยโบราณใช้คำว่ายกขันหมากไปสู่ขอ แต่สำหรับยุคปัจจุบันเราจะเห็นว่า เรามักพูดติดปากกันว่า “แห่ขันหมาก” มากกว่ายกขันหมาก และพิธีแต่งงานและสู่ในปัจจุบันยังเน้นไปที่เรื่องของ ความสวยงามและความสนุกสนาน คนไทยในยุคปัจจุบันน้อยนักที่จะทานหมาก ภาพติดตาของหลาย ๆ ท่านในการทำพิธีสู่ขอ จึงมักจะเป็นภาพกลองยาวและการร้องรำทำเพลงแห่ขันหมากแทนที่จะเป็นภาพขันหมากเอก ขันหมากโท และสินสอดไม่กี่พานยกมานั่งสู่ขอกัน นอกจากนี้ การแห่ขันหมากในปัจจุบันมีตั้งแต่แห่แบบกลองยาว แห่แบบรำวง จ้างรำ และ เพี้ยนไปจนถึงขันหมากสายย่อ ซึ่งใครจะทำอย่างไรนั้น ก็แล้วแต่ความชอบและความเห็นควรของท่าน ไม่ได้มีข้อบังคับ แต่ก็ควรอยู่ภายใต้ความเหมาะสมเป็นที่ตั้ง

ย้อนกลับไปในอดีต เมื่อมีการรับแขกในงานมงคลหรืองานวิวาห์ มักมีการร้อยกรองดอกไม้ใบตองเป็นพานขันหมาก ซึ่งภายในจะจัดวางหมากพลูไว้เป็นคู่ ๆ เนื่องจากคนสมัยก่อนนิยมกินหมากกันเป็นปกติ จึงใช้หมากพลูเป็นเครื่องต้อนรับแขก ส่วนในพิธีแต่งงานและการสู่ขอนั้น พานขันหมากถือเป็นสิ่งแสดงถึงไมตรีจิต และเป็นการเคารพผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว เพื่อบอกกล่าวว่าจะขอฝ่ายหญิงไปเป็นภรรยา ซึ่งนอกจากพานขันหมากในงานหมั้นและงานแต่งงานจะประกอบด้วยหมากพลูแล้ว ยังมีสิ่งของอื่น ๆ ที่มีความหมายมงคลอยู่ด้วย เช่น ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ข้าวเปลือก เมล็ดพันธุ์ และดอกไม้ต่างๆ เป็นต้น

การจัด "ขันหมาก" และการแห่ขันหมาก ในพิธีแต่งงานไทย

ความแตกต่างของการจัดพานขันหมากในอดีตและปัจจุบัน

ในสมัยโบราณนั้น พานขันหมากหลัก ๆ จะมีเพียง ขันหมากเอก และ ขันหมากโท เท่านั้น นอกจากนั้นที่ปรากฏในการสู่ขอและพิธีแต่งงานก็คือ “สินสอดและเงินทุน”

สำหรับ พานขันหมากเอก สังเกตง่าย ๆ ก็คือพานที่มีหมาก โดยในสมัยโบราณ จะใช้เพียงใบไม้มงคลในการจัดพานขันหมาก การจัดวางหมากและพลู ก็จะวางในขันข้าวสาร และนำขันข้าวสารวางไว้บนพานแว่นฟ้า และปักยอดด้วยฉัตรระย้าทองอังกฤษ กาลเวลาผ่านไป ในปัจจุบันได้มีการประยุกต์การจัดขันหมากให้สวยงาม มีการใช้ดอกไม้ในการตกแต่งพานขันหมาก มีการจัดพานธูปเทียนและอื่น ๆ อีกมากมาย และที่หลาย ๆ ท่านเห็นว่าขันหมากแต่ละจังหวัดและแต่ละพื้นที่นั้นมีการจัดไม่เหมือนกัน นั่นเป็นเพราะว่าประเพณีของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง และทำให้มีการจัดขันหมากแตกต่างกันไปตามประเพณีท้องที่ค่ะ

แล้ว ขันหมากโท คืออะไร? ขันหมากโทก็คือพานขันหมากบริวาร ในสมัยโบราณจะใช้เป็นพานขนมมงคลต่าง ๆ แต่สมัยปัจจุบันประเพณีมีการเปลี่ยนไปมากมาย ตามที่เราจะเห็นว่าในงานแต่งงานต่าง ๆ มีการใช้พานขนม พานผลไม้จำนวนมาก มาร่วมจัดเป็นพานบริวาร หรือ พานขันหมากโท ด้วยความเชื่อว่าเป็นสิ่งมงคล ยิ่งเยอะยิ่งดี ยิ่งสนุก นิยมเป็นเลขคู่ แต่ทางภาคใต้บางจังหวัด จะใช้เป็นเลขคู่ลงท้ายด้วยเลข 1 เช่น 101 พาน ว่ากันไปตามความเชื่อและประเพณีแต่ละพื้นที่

การจัด "ขันหมาก" และการแห่ขันหมาก ในพิธีแต่งงานไทย

การเตรียมพานขันหมาก

การจัดเตรียมและแห่ขบวนขันหมาก ตามธรรมเนียมเป็นหน้าที่ของครอบครัวฝ่ายชาย โดยเครื่องขันหมากโดยหลัก ๆ จะประกอบด้วย ขันหมากเอก สินสอดเงินทุน ขันหมากโท และเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ส่วนถ้าเป็นสมัยโบราณจะมีการเตรียมพานผ้าไว้ด้วย ร้านรับจัดขันหมากปัจจุบัน มักจัดขันหมากเป็นเซ็ท คู่บ่าวสาวเห็นแล้วอาจจะสงสัยหรืออาจจะ งง ว่าทำไมถึงมีนั่น ทำไมมีนี่ หรือ ทำไมอาจมีไม่เหมือนของที่บ้านเราเคยจัด นั่นเป็นเพราะว่า ประเพณีของแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ร้านจัดขันหมากอาจพยายามจัดแบบเป็นกลางที่สุด หรือ ที่ขายง่ายเนื่องจากมีคนนิยมและถามหาเป็นจำนวนมาก

ขันหมากเอก

ภายในขันหมากเอกสมัยปัจจุบัน ประกอบด้วยสิ่งของมงคลที่นิยมจัดเป็นคู่ ซึ่งชนิดสิ่งของอาจแตกต่างกันไปบ้างขึ้นอยู่กับประเพณีในแต่ละท้องถิ่น โดยส่วนมากสิ่งของที่จัดในขันหมากเอก ได้แก่

การจัด "ขันหมาก" และการแห่ขันหมาก ในพิธีแต่งงานไทย

  • พานขันหมากเอก เป็นพานที่ฝ่ายชายนำมาเพื่อสู่ขอฝ่ายหญิง ซึ่งในพานจะมี หมากพลู จัดไว้ 4 คู่ หรือ 8 คู่ มี ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ซึ่งมีความหมายว่าทำให้มีเงินทองร่ำรวย ประดับพานด้วยดอกไม้มงคล ได้แก่ ดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย และดอกดาวเรือง ซึ่งสื่อถึงความรักที่เหนียวแน่น ยั่งยืน ไม่ร่วงโรย และความเจริญรุ่งเรืองของคู่แต่งงาน ในพานยังมี ข้าวเปลือก ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์สื่อถึงการเริ่มต้นชีวิตและต้นทุนในการสร้างครอบครัว รวมถึงมี ข้าวตอก งา ถั่วเขียว ที่ใส่ในถุงเงิน ถุงทองอย่างละ 2 ใบอีกด้วย
  • หมายเหตุ: สมัยโบราณ การจัดขันหมากเอก จะใช้พานแว่นฟ้า โดยนำ ขันใส่ข้าวสาร มาวางบนพาน แล้วใส่ผลหมากลงในขัน ตามด้วยใบพลูที่พับจีบเรียงลำดับเป็นยอด แล้วจึงประดับขันใส่หมากพลูด้วยฉัตรระย้าทองอังกฤษวางเป็นยอดด้านบน เพียงเท่านี้ เป็นอันเสร็จ
  • ขันหมาก 19 คู่ มีอะไรบ้าง?

ขันหมากเอก

การจัดพานขันหมากเอก สมัยปัจจุบัน

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า พานขันหมากเอก คือพานที่ใส่หมากพลู ส่วนขันหมากโทก็คือบริวารของขันหมากเอก และในส่วนของสินสอดและเงินทุนก็แยกเป็นอีกเรื่อง แต่ในสมัยปัจจุบัน คนไทยและร้านจัดขันหมาก มักจะเรียกพานสินสอดทองหมั้น พานธูปเทียนแพ ว่าเป็น พานบริวารของขันหมากเอก (ซึ่งในสมัยโบราณไม่มี) มักเรียกกันว่าขันหมากแบบประยุกต์ ซึ่งก็ตามที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น ว่าประเพณีอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคและสมัย นอกจากนี้ ขันหมากประยุกต์ในปัจจุบัน ยังมีการตกแต่งด้วยดอกไม้และผ้าสีสันต่าง ๆ ตามความชอบหรือความสวยงามอีกด้วยค่ะ

สิ่งของที่เตรียมจัดในขบวนพานขันหมากเอก อาจแตกต่างไปตามแต่ละประเพณีของแต่ละจังหวัด แต่ขันหมากของภาคกลาง มักจะประกอบด้วย

  • พานขันหมากเอก หรือ พานที่ใส่หมากและพลู
  • พานสินสอดทองหมั้น สำหรับใส่เงินสด ทองคำ เครื่องประดับ หรือทรัพย์สินอื่นๆ ที่เป็นสินสอด เช่น โฉนดที่ดิน นอกจากนี้ยังใส่ใบเงิน ใบทอง ใบนาค กลีบกุหลาบ กลีบดาวเรือง กลีบบานไม่รู้โรย ดอกมะลิ ดอกรัก และดอกไม้มงคลอื่นๆ รวมถึง ถุงเงิน ถุงทอง ซึ่งพานนี้จะมีผ้าลูกไม้คลุมไว้ หากสิ่งของมีจำนวนมาก อาจแบ่งเป็น 2 พาน หรือหลายพานก็ได้ เช่น พานเงินสด พานทองคำ และพานเครื่องประดับ
  • พานแหวน เป็นพานเล็กๆ สำหรับวางแหวนหมั้น ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้สวยงาม ใช้ในกรณีที่พิธีหมั้นและพิธีแต่งงานอยู่ในวันเดียวกัน
  • พานธูปเทียนแพ ประกอบด้วยธูป เทียนแพ และกระทงดอกไม้ โดยวางตามลำดับเพื่อความเป็นสิริมงคล คือกระทงดอกไม้อยู่บนสุด ตามด้วยธูปแพ และเทียนแพอยู่ล่างสุด จัดไว้สำหรับบูชาพระรัตนตรัย กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกราบพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย
  • พานผ้า ปัจจุบันมีการจัดเพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจากพานธูปเทียน โดยจะจัดไว้ 2 พาน พานแรกสำหรับไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งจะมีผ้าขาวสำหรับนุ่ง ผ้าสำหรับห่ม ธูปหอม เทียน และกระทงดอกไม้ ส่วนอีกพานสำหรับไหว้ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ ซึ่งจะมีผ้าขาวสำหรับนุ่ง ผ้าสำหรับห่ม หรือเสื้อผ้า (แต่ประเพณีปัจจุบัน บางพื้นที่ก็ไม่มีการเตรียมพานผ้าไหว้แล้ว)
  • พานรดน้ำสังข์ สำหรับคู่แต่งงานที่มีพิธีรดน้ำสังข์เพื่อเป็นสิริมงคล
  • พานต้นกล้วย ต้นอ้อย โดย อ้อย สื่อถึงการทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง และ กล้วย หมายถึงการมีลูกหลานมากมาย ตามประเพณีดั้งเดิม บ่าวสาวจะต้องนำกล้วยและอ้อยไปปลูกที่บ้านให้เจริญออกดอกออกผล แต่ปัจจุบันการปลูกกล้วยและอ้อยอาจทำได้ลำบากเพราะไม่มีพื้นที่ บางบ้านจึงอาจใช้หน่อกล้วย หน่ออ้อย มาใส่ในขันหมากแทน
  • ร่มสีขาว 2 คัน เพื่อให้เถ้าแก่ทั้งสองฝ่ายถือ
  • ช่อดอกไม้เล็ก ๆ ซึ่งอาจมีไว้ สำหรับให้เจ้าบ่าวถือ

การจัดเตรียมขันหมากเอก มีความแตกต่างกันไปตามประเพณีของแต่ละจังหวัดและพื้นที่ ภาคใต้เรียกขันหมากเอกว่าขันหมากหัว ขันหมากโทว่าขันหมากคอ และมีขันหมากคาง ภาคเหนือและอีสาน อาจมีการจัดขันหมากและตกแต่งในสไตล์ทางเหนือ ส่วนภาคกลางมีการใช้ต้นกล้วย ต้นอ้อยเป็นส่วนหนึ่งในพานบริวารขันหมาก ซึ่งเป็นไปตามประเพณี ความเชื่อเรื่องคำหมายทางมงคล

ขันหมากเอก

ขันหมากโท

ขันหมากโท คือ ขันหมากบริวารของขันหมากเอก ในขบวนขันหมากโทประกอบด้วยพานขนมมงคลต่าง ๆ โดยปกติจะจัดสิ่งของเป็นคู่ใส่ถาดหรือพาน เช่น พานกล้วย 2 ถาด แต่สำหรับภาคใต้บางจังหวัดซึ่งมีประเพณีที่แตกต่าง จึงนิยมใช้จำนวนขันหมากโทเป็นเลขคี่ลงท้ายด้วยเลข 1 เช่น 101 ถาด นอกจากนี้ สำหรับชาวไทยเชื้อสายจีน อาจวางกระดาษสีแดงปะหน้าเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่สังเกตไหมคะ? ชาวไทยแท้บางท่านก็ใช้กระดาษแดงพร้อมอักษรมงคลแปะไว้เหมือนกัน นั่นเป็นเพราะร้านจัดขันหมากสมัยปัจจุบันจัดเป็นแพกเกจมาให้แบบนี้อยู่แล้ว จึงได้กระดาษภาษาจีนแปะมาด้วย แต่บางร้านก็ใช้กระดาษสีมงคลแปะเพื่อความเป็นมงคลและถือเป็นสิ่งสวยงามค่ะ สิ่งที่นิยมจัดวางในขันหมากโท ในสมัยปัจจุบัน ได้แก่

  • พานขันหมากโท วางหมากและพลูจัดไว้สวยงาม (หมายเหตุ: บางพื้นที่ก็ไม่ใช้หมากและพลูในพานขันหมากโท เนื่องด้วยในขันหมากเอกมีหมากพลูอยู่แล้ว ซึ่งจะยึดตามสมัยโบราณว่าขันหมากโทคือพานขนมและผลไม้ แบบโบราณ)
  • พานขนม ในพานจะจัดวางขนมมงคล 9 อย่าง ได้แก่ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองเอก จ่ามงกุฎ เสน่ห์จันทร์ ลูกชุบ ขนมกง ขนมชั้น ซึ่งความหมายโดยรวมคือให้คู่แต่งงานร่ำรวยเงินทอง การงานเจริญก้าวหน้า มีความรักนิรันดร์ไม่เสื่อมคลาย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง โดยบางครั้งอาจใช้ขนมอื่นๆ ด้วย เช่น ขนมหม้อแกง ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวแดง แต่ขนมที่ไม่นิยมใช้คือขนมต้มแดง และขนมต้มขาว เนื่องจากเป็นขนมที่มักใช้ในพิธีไสยศาสตร์
  • พานไก่ต้ม และหมูนอนตอง (หมูสามชั้นต้ม วางในใบตอง)
  • พานวุ้นเส้น 1 คู่
  • พานมะพร้าว 1 คู่
  • พานกล้วยหอม จำนวนหวีเป็นคู่ และส้ม 1 คู่
  • พานส้มโอ 1 คู่
  • พานชมพู่ 1 คู่
  • พานขนมเปี๊ยะ หรือขนมเสน่ห์จันทร์ 1 คู่
  • พานขนมกล่อง เพื่อมอบแก่ญาติผู้ใหญ่ จัดใส่กล่องตามจำนวนคน โดยชนิดขนมนั้นแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบ้าน

การจัดขันหมากโท หรือ ขันหมากบริวาร แตกต่างกันไปตามประเพณีของแต่ละพื้นที่เช่นกัน ผู้คนบางจังหวัด อาทิ จันทบุรี อาจมีประเพณี ความเชื่อและชื่นชอบการจัดพานขันหมากแบบเน้นจำนวน เยอะไว้ก่อน เพื่อความสนุกสนาน แห่ยาวเป็นขบวน แห่พานขันหมากโทเยอะ ๆ ใส่ขนมเยอะ ๆ จำนวนพานเยอะ ๆ และนำไว้แจกคนแห่ขันหมากต่อไป

ขันหมากโท

เครื่องเส้นไหว้บรรพบุรุษ

ประเพณีบางจังหวัดมีความเชื่อเรื่องการไหว้ผีและบรรพบุรุษ จึงมีการปฏิบัติเรื่องการจัดเครื่องเส้นไหว้บรรพบุรุษและมีพิธีไหว้ผีในงานแต่งงาน

พานสำหรับไหว้บรรพบุรุษ จะประกอบด้วย ธูป 5 ดอก เทียน 2 เล่ม มะพร้าวอ่อน 1 คู่ กล้วยน้ำว้า 2 หวี หมูนอนตอง 1 ที่ ไก่ต้ม 1 ตัว เหล้า 1 คู่ และผ้าขาว 1 พับ

เจ้าสาวต้องเตรียมอะไรบ้าง?

ฝั่งเจ้าสาวเองก็มีหน้าที่ต้องเตรียมสิ่งของในขบวนขันหมาก รวมถึงคนที่จะมาร่วมในพิธีด้วยเช่นกัน แต่รายการที่ต้องเตรียมอาจไม่มากมายเท่าฝั่งเจ้าบ่าว โดยสิ่งที่ครอบครัวเจ้าสาวต้องเตรียมไว้ มีดังนี้

  • พานเชิญขันหมาก เป็นพานที่ญาติทางฝั่งเจ้าสาวจะถือเพื่อต้อนรับขบวนขันหมากที่ฝ่ายเจ้าบ่าวแห่มา โดยเมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายหญิง จะมีขั้นตอนการเชิญขันหมากขึ้นเรือน และต้อนรับญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเข้าบ้าน ผู้ถือพานเชิญขันหมากโดยปกติจะเป็นเด็กผู้หญิงซึ่งเป็นญาติฝั่งเจ้าสาว อารมณ์ประมาณว่าท่านมาเยือนเรือนเราแล้ว เราก็มีหมากไปต้อนรับด้วยเช่นกัน เพราะว่าคนสมัยก่อนกินหมากกันนั่นเองค่ะ
  • คนล้างเท้าเจ้าบ่าว บางจังหวัด มีประเพณีล้างเท้าเจ้าบ้านก่อนเข้าเรือน โดยจะเป็นญาติฝ่ายหญิงที่เด็กกว่าเจ้าสาว ซึ่งจะมีหน้าที่เป็นคนตักน้ำล้างเท้าเจ้าบ่าวก่อนขึ้นเรือนเจ้าสาว
  • ประตูเงิน ประตูทอง รวมถึงญาติหรือเพื่อนที่เป็นคนกั้นประตู นิยมจำนวนเป็นคู่ จะใช้ดอกไม้ร้อยกรองเป็นสายมากั้นก็ได้ หรือ อาจใช้เข็มขัดเงิน เข็มขัดนาก สร้อยทอง เป็นต้น

 

ประตูเงิน ประตูทอง

การจัดขบวนขันหมาก และ ลำดับการยืนในขบวนขันหมาก

ในขบวนขันหมาก จะมีตำแหน่งและลำดับการยืนของคนที่ถือพานต่างๆ กำหนดไว้แน่นอน โดยรูปแบบอาจแตกต่างกันได้บ้างตามประเพณีของแต่ละพื้นที่ แต่โดยทั่วไปแล้ว ขบวนขันหมากจะมีลำดับการยืนจากแถวหน้าไปแถวหลัง ดังนี้

  • บางพื้นที่ ให้เจ้าบ่าวจะอยู่หน้าสุดในตอนเริ่มขบวน โดยจะถือช่อดอกไม้ พวงมาลัย หรือบางบ้านอาจให้ถือพานธูปเทียนแพ แล้วตามด้วยเถ้าแก่ฝั่งเจ้าบ่าว และเด็กชายนำขันหมาก แต่เมื่อเดินมาใกล้ถึงบ้านเจ้าสาว เถ้าแก่จะออกเดินนำเจ้าบ่าวเพื่อรับหน้าในการเจรจา ในฐานะตัวแทนเจ้าบ่าว
  • แต่บางพื้นที่ ก็ให้เถ้าแก่นำเข้าขบวนขันหมาก หรือ ให้เถ้าแก่ยืนนำหน้าเจ้าบ่าว
  • ในขณะเดียวกัน ภาคใต้บางจังหวัด อาจไม่ให้เจ้าบ่าวยืนในขบวนขันหมากเลย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่
  • คนถือซองเงิน ซึ่งเป็นพ่อและแม่ของเจ้าบ่าว หรือญาติผู้ใหญ่ที่สนิทและนับถือ ยืนตามเป็นคู่ต่อไป
  • คู่ต้นกล้วย ต้นอ้อย
  • พานขันหมากเอก ซึ่งให้ญาติผู้ใหญ่เป็นคนถือ บางบ้านอาจให้พานขันหมากเอกอยู่หน้าต้นกล้วย ต้นอ้อย ก็ได้
  • คู่พานขันหมากพลู
  • พานสินสอดทองหมั้น ซึ่งอาจมีหนึ่งพาน หรือหลายพานก็ได้
  • พานแหวนหมั้น และพานธูปเทียนแพกับกระทงดอกไม้
  • พานคู่ผ้าไหว้
  • พานขันหมากโท โดยให้ญาติหรือเพื่อนๆ เจ้าบ่าวเป็นคนถือ
  • พานคู่ขาหมู
  • พานคู่วุ้นเส้น
  • พานคู่มะพร้าว
  • พานคู่ผลไม้ ซึ่งได้แก่ กล้วยหอม ส้ม ชมพู
  • พานคู่ส้มโอ
  • พานคู่ขนมมงคลทั้ง 9 อย่าง
  • พานคู่ขนมเปี๊ยะ หรือขนมเสน่ห์จันทร์
  • พานคู่ขนมกล่อง สำหรับมอบแก่ญาติๆ
  • ขบวนรำเดินปิดท้าย

ตามที่ได้แจ้งไว้ในหัวข้อ “ขันหมากเอก” และ “ขันหมากโท” อนึ่ง การจัดคู่ยืน หรือ จำนวนพานขันหมากแต่ละพื้นที่อาจมีจำนวนและเตรียมของในพานขันหมากไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามความเชื่อและประเพณีแต่ละจังหวัด ซึ่งข้อมูลที่เราได้รวบรวมให้ท่านด้านบนนี้ เป็นตัวอย่างของขบวนขันหมากที่มักนิยมจัดเตรียมและยืนเรียงลำดับกันในภาคกลาง ท่านอาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมและประเพณีของครอบครัว

ขันหมากภาคกลาง

รูปภาพขันหมากประยุกต์ แบบภาคกลาง ตกแต่งด้วยผ้าและดอกไม้สวยงาม

ขั้นตอนพิธีแห่ขันหมาก

การแห่ขันหมากตามธรรมเนียมมักเริ่มในช่วงเช้าหรือสาย หลังเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ โดยฤกษ์งามยามดีอาจเป็นเวลา 9.09 น. หรือ 9.19 น. หรือเวลาอื่นๆ ตามฤกษ์ดีของแต่ละคู่ ซึ่งพิธีแห่ขันหมากส่วนใหญ่มีลำดับขั้นตอนดังนี้

การจัด "ขันหมาก" และการแห่ขันหมาก ในพิธีแต่งงานไทย

 

การจัด "ขันหมาก" และการแห่ขันหมาก ในพิธีแต่งงานไทย

Editorial credit: / Shutterstock.com

 

  1. เริ่มแรก ฝ่ายเจ้าบ่าวจะจัดขบวนขันหมากโดยยืนตามลำดับที่ได้บอกไป และตั้งขบวนห่างจากบ้านเจ้าสาวระยะหนึ่ง ก่อนเริ่มเดินขบวนจะมีการโห่ร้องรับกัน 3 ครั้ง เพื่อให้สัญญาณ แล้วจึงเริ่มเคลื่อนขบวนกันมายังบ้านเจ้าสาว
  2. เมื่อขบวนขันหมากมาถึงหน้าบ้านเจ้าสาว ก็จะมีการโห่ร้องรับกันอีก 3 ครั้ง เพื่อเป็นสัญญาณว่าเจ้าบ่าวเดินทางมาถึงแล้ว ทางฝั่งเจ้าสาวก็จะมีญาติ ซึ่งมักเป็นเด็กผู้หญิง ถือพานเชิญขันหมาก และพานหมากที่จัดไว้เป็นคู่มาต้อนรับ พร้อมกับรับพานดอกไม้ธูปเทียนจากเจ้าบ่าว
  3. สำหรับขบวนแห่กลองยาวจะมีก็ได้ หรือ ไม่มีก็ได้แล้วแต่ท่านเลยค่ะ บางแห่งนิยมให้มีกลองยาวและขบวนแห่ขันหมากร้องรำ เพื่อความสนุกสนาน
  4. ตามธรรมเนียมแล้วจะมีการสนทนาระหว่างผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ในทำนองว่า ผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าสาวจะถามว่า “วันนี้มีทำอะไรกัน” ทางผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าบ่าวก็จะตอบว่า “วันนี้เป็นวันดี จึงนำขันหมากและลูกเขยมาให้” ซึ่งผู้เป็นตัวแทนเจรจาอาจเป็นเถ้าแก่ของทั้งสองฝ่ายก็ได้
  5. ขบวนขันหมากจะต้องผ่านด่านประตูเงิน ประตูทอง ที่ญาติและเพื่อนๆ เจ้าสาวยืนกั้นอยู่เป็นคู่ๆ ซึ่งขั้นนี้ประตูแต่ละด่านอาจมีการทดสอบเจ้าบ่าวด้วยภารกิจเล็กๆ น้อยๆ รวมถึงฝั่งเจ้าบ่าวก็จะมอบซองใส่เงินให้เพื่อเป็นค่าผ่านทาง
  6. เมื่อผ่านประตูมาได้แล้ว ก็เป็นอันเสร็จพิธีแห่ขันหมาก จากนั้นก็จะเข้าสู่พิธีสู่ขอ นับสินสอด พิธีหมั้น รดน้ำสังข์ พิธีแต่งงาน และส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาว ตามฤกษ์งามยามดีต่อไป

การจัด "ขันหมาก" และการแห่ขันหมาก ในพิธีแต่งงานไทย

การแต่งงานในปัจจุบันอาจจัดในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านเจ้าสาว เช่น โรงแรม หรือหอประชุม การแห่ขบวนขันหมากจึงอาจต้องปรับเปลี่ยนจากนี้บ้างตามความเหมาะสม รวมถึงความเชื่อและประเพณีในแต่ละท้องที่ก็อาจแตกต่างกันไปด้วย แต่โดยรวมแล้ว การจัดสิ่งของและรูปแบบขบวนขันหมากที่เราแนะนำมานี้ก็เป็นรูปแบบที่ใช้กันทั่วไปในพิธีแต่งงานแบบไทย ทั้งนี้ทั้งนั้น ว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็ลองนำไปปรับใช้กับงานแต่งงานของตัวเองให้เหมาะสม เพื่อให้พิธีของเราถูกต้องครบถ้วนตามธรรมเนียมและประเพณีอันดีงาม เพื่อเป็นการให้เกียรติญาติผู้ใหญ่ และรักษาประเพณีไทย นี้ให้คงอยู่สืบไปด้วย

เรียบเรียงโดย: WeddingReview

บทความที่เกี่ยวข้อง

การจัด "ขันหมาก" และการแห่ขันหมาก ในพิธีแต่งงานไทย

การจัด "ขันหมาก" และการแห่ขันหมาก ในพิธีแต่งงานไทย

การจัด "ขันหมาก" พิธีแต่งงานไทย และการแห่ขันหมาก รวมข้อควรรู้ตามประเพณีไทย

Report

What do you think?

0 Points
Upvote
ลำดับพิธีแต่งงานแบบจีน และพิธียกน้ำชา ละเอียดและเข้าใจง่ายสุด ๆ

ลำดับพิธีแต่งงานแบบจีน และพิธียกน้ำชา ละเอียดและเข้าใจง่ายสุด ๆ

จริงเหรอ? แต่งงานริมทะเลในโรงแรมสุดหรูของพัทยา ควักเงินแค่แสนต้นๆ !

จริงเหรอ? แต่งงานริมทะเลในโรงแรมสุดหรูของพัทยา ควักเงินแค่แสนต้นๆ !