สินสอดเท่าไหร่ ถึงจะถูกใจพ่อตา? การคำนวณสินสอด และ การจัดการเรื่อง “สินสอด”

สินสอดงานแต่ง ให้ใคร ให้เท่าไหร่ สินสอดเท่าไหร่ดีนะ

สินสอดเท่าไหร่ ถึงจะถูกใจพ่อตา? การคำนวณสินสอด และ การจัดการเรื่อง "สินสอด"

กว่าจะโตมาเป็นสาวสะพรั่ง พร้อมจะออกเหย้าออกเรือนขนาดนี้ ถ้าให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูเรามา คงพูดเลยว่าไม่น้อย ไหนจะค่าเทอม ค่ากิน ค่าช็อปปิ้ง ค่าต่างๆ อีกมากมาย แล้ววันหนึ่งจะมีผู้ชายขี่ม้าขาวมาสู่ขอ เราควรตั้งค่า “สินสอดเท่าไหร่ ดีนะ?” เรื่อง สินสอด อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นปัญหา

หากคุณคิดจะแต่งงาน แต่ก็มีอีกหลายๆ คู่ค่ะ ที่ประสบปัญหาเคลียร์เรื่อง “ค่าสินสอด” ที่ไม่ลงตัว ว่ากันว่าไม่สมศักดิ์ศรีของฝ่ายเจ้าสาวบ้าง ให้น้อยแบบนี้พ่อแม่เจ้าสาวจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน? แล้วข้อสรุปของค่าสินสอดจะจบลงอย่างไรไม่มีใครรู้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกันให้ดี ไม่มีกฎตายตัวว่าสินสอดเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม

วันนี้เราเลยนำข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับ “สินสอด เท่าไหร่ถึงจะถูกใจพ่อตา” มาฝากเพื่อนๆ กันค่ะ เผื่อนำเอาไปปรับใช้ว่าจะเรียกค่าสินสอดจากคุณแฟนประมาณไหนดี ให้ทั้งสองฝ่ายแฮปปี้ไม่มีปัญหาตามมา

สินสอด เท่าไหร่ดีนะ การตกลงเรื่องค่าสินสอด

1. ตกลงเรื่องสินสอดกันให้ชัดเจน

หากฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นคนตัดสินใจเรื่องของ ‘สินสอด’ ควรพูดคุยและเจรจากับฝ่ายเจ้าบ่าวให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมามีปัญหาตามมา ทอง 10 บาท เงิน 500,000 บาท หรือเท่าไหร่ก็ระบุให้ชัดเจนไปเลยค่ะ หรือถ้าจะให้ฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนพิจารณาค่าสินสอดก็ควรพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ให้ได้ค่าสินสอดที่พอใจทั้งสองฝ่าย เพราะมีหลายๆ คู่ ที่ให้ฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนเห็นสมควรว่าจะให้เท่าไหร่ สุดท้ายเจ้าบ่าวให้ค่าสินสอดที่ไม่ตรงใจฝ่ายเจ้าสาว ก็กลายเป็นเรื่องอีก ฉะนั้นเลยมองเรื่องนี้ว่า ควรตกลงกันให้ชัดเจนก่อนดีกว่า ปัญหาเรื่องค่าสินสอดจะได้ไม่ตามมาให้ปวดหัว …

2. คํานวณค่าสินสอด

การคำนวณค่าสินสอดไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายหญิงพอใจอย่างไรมากกว่า หากฝ่ายหญิงไม่ติดใจ ก็คุยกันง่าย

โดยในวันที่ผู้ใหญ่มาสู่ขอ ผู้ใหญ่ฝ่ายชายสามารถแนบเคียงเรียงถาม แบบโยนหินถามทาง ว่าทางฝ่ายเจ้าสาวจะว่าอย่างไรดี … หากฝ่ายเจ้าสาวพูดทำนองว่าให้จัดอย่างไรก็ได้ให้สมเกียรติ อาจจะให้เจ้าบ่าวแอบมาถามเจ้าสาวนอกรอบอีกทีเพื่อความแน่ใจ ว่า ‘สินสอดเท่านี้ โอเคหรือเปล่า’ บางบ้านบอกว่าโอเคแต่ตอนหลังไม่โอเค เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือฝากเจ้าสาวมาคุยกับที่บ้านเจ้าสาวอีกทีเพื่อให้แน่ใจ

3. สินสอด … เงินไม่พอ ขอเป็นอย่างอื่นได้ไหมครับ

คงมีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ขนาดเงินยังไม่มี จะเอาอะไรมาเป็นสินสอด ไม่พร้อมแบบนี้ไม่ต้องแต่งงานหรอก! ใจเย็นๆ ก่อนค่ะ ถ้าหากเจ้าบ่าวเขาตัดสินใจจะแต่งงานแล้วเขาคงมีทรัพย์สินที่พร้อมจะเป็นสินสอดแทนเงิน อาจจะเป็นโฉนดที่ดิน แหวนประจำตระกูล หรือทองคำแท่ง หรือของที่มีมูลค่าพอๆ กับเงินสด ทั้งนี้ทั้งนั้นทางฝ่ายเจ้าสาวต้องยอมรับข้อตกลงนี้ให้ได้ก่อนนะคะ ไม่อย่างนั้นมีดราม่าตามมาติด ๆ แน่นอนค่ะ

4. สินสอดเป็นหน้าเป็นตาให้กับครอบครัวทั้งสอง

เสียเงินไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้ คำนี้คงเป็นวลีฮิตของหลายๆ คน จะจัดงานแต่งงานทั้งที ก็คงมีค่าสินสอดนี่แหละ เอาไว้อวดชาวบ้าน คงปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ค่ะ ว่าในการแต่งงานของเราก็จะมีพวกอยากรู้อยากเห็นว่าเราได้สินสอดเท่าไหร่ ถ้าได้น้อยคงเป็นขี้ปากของคนพวกนั้นอย่างแน่นอน ในอดีตการหาค่าสินสอดจะตกเป็นของทางฝ่ายเจ้าบ่าวที่ต้องหามาให้ฝ่ายเจ้าสาวเพื่อให้พ่อแม่ของฝั่งผู้หญิงมั่นใจในตัวเขา ว่าจะดูแลลูกสาวของพวกท่านได้อย่างดี ไม่มีอดตายแน่นอน

แต่ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้วค่ะคุณ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่และภาวะสังคมในปัจจุบัน หากจะให้เจ้าบ่าวหาเงินค่าสินสอดงกๆ อยู่คนเดียวอาจจะได้แต่งงานช้าไปอีก 10 ปี

จึงอาจมีญาติฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงช่วยสนับสนุนบ้าง ตามความเหมาะสม

แต่หากมองอีกแง่ มันก็แค่พิธีหนึ่งที่รักษาหน้าตาของทั้งสองฝ่ายเพื่อเอาใจบรรดาญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุธโสเท่านั้น เพราะกลุ่มคนรุ่นนี้กว่า 80 – 90% เชื่อว่ายังคงยึดติดกับธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมอยู่ ก็ลองไม่มีสินสอดมาโชว์ดูสิ รับรองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะโดนนินทาทั้งต่อหน้าและลับหลังแน่นอน แต่ไม่ว่าวิธีการจะเป็นอย่างไร

ผลลัพธ์ที่ออกมาให้เห็นในวันพิธีแต่งงาน มุมมองของแขกผู้ร่วมงานแต่งงานก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับสินสอดเหล่านี้ ความสบายใจของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดค่ะ 

5. สินสอด ให้ใคร

นอกจากเรื่อง “สินสอด เท่าไหร่” ยังมีอีกเรื่องที่ห้ามลืมนะ คือ “สินสอด ให้ใคร” เพราะเมื่อถึงเวลามอบสินสอดแล้ว จะทำอย่างไรกับสินสอดต่อไป วิธีจัดการง่าย ๆ กับ “สินสอด” คือ

  1. ให้เจ้าสาวแอบไปถามฝั่งเจ้าสาวเองว่าจะเอาอย่างไรกับสินสอด จัดงานแต่งเสร็จแล้วคืนเจ้าบ่าวไหม
  2. ในทางกลับกัน ให้เจ้าบ่าวไปถามพ่อแม่ตัวเองด้วยค่ะ ว่าจะเอาอย่างไรกับ เงินสินสอดและทองหมั้น มีความจำเป็นต้องขอคืนไหม

อันนี้แล้วแต่ แต่ละครอบครัวนะคะ เพราะว่าแต่ละครอบครัวจะมีสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกันค่ะ ให้แต่ละฝ่ายกระซิบถามฝ่ายตัวเอง แล้วมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อไปค่ะ

บทสรุป เกี่ยวกับ “สินสอด” จากประสบการณ์ของทีมงาน

สรุปแล้วประเด็นเรื่อง “สินสอด” เป็นสิ่งที่ตัดสินได้ยาก ไม่มีใครถูกหรือผิด แล้วแต่แต่ละบ้านพอใจ เพราะด้วยไม่มีกฎที่ตายตัวว่า สินสอดเท่าไหร่ถึงจะเป็นที่พอใจ มากไปก็ไม่ไหว น้อยไปก็คงไม่ดีแน่ ๆ … บางบ้านก็ถือเรื่องหน้าตาฝ่ายเจ้าสาวที่จะแต่งงานทั้งทีครั้งเดียวในชีวิต บางบ้านก็ไม่ถือ…

หากใครที่เจอปัญหาเรื่องสินสอด ลองพิจารณาดูอีกครั้งหนึ่งว่าคุณพร้อมที่จะจัดงานแต่งงานหรือเปล่า หรือจะรอให้ทุกอย่างพร้อมกว่านี้ก็ยังไม่มีคำว่าสาย ทางออกที่ดีที่สุดคือการสื่อสารระหว่าง 2 ฝ่าย หากคน 2 คนรักกันจริงก็ต้องพิสูจน์กันให้ได้ โดยนึกถึง ‘ศิลปะในการพูด’ และการรักษาน้ำใจ รู้เขารู้เรา เป็นสำคัญ รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งค่ะ (ขยิบตา!)

Report

What do you think?

0 Points
Upvote
จัดงานแต่งงาน ในงบประมาณ 500,000 บาท

จัดงานแต่งงาน ในงบประมาณ 500,000 บาท

5 สัญญาณของคนที่ใช่ วิธีเลือกคนที่ใช่ สำหรับแต่งงาน

5 สัญญาณของคนที่ใช่ วิธีเลือกคนที่ใช่ สำหรับแต่งงาน