วิธี เตรียมเงินแต่งงาน | จัดเตรียมงบประมาณ แต่งงานอย่างประหยัด

วิธี เตรียมเงินแต่งงาน | จัดเตรียมงบประมาณ แต่งงานอย่างประหยัด

ในที่สุดก็จะได้กลายเป็นเจ้าสาวกับเขาสักที แต่พอพูดถึงเรื่อง เตรียมเงินแต่งงาน ทำไงดีล่ะ? WeddingReview.net ชวนมาดู “การเตรียมเงินแต่งงาน” ว่าทำอย่างไรได้บ้าง มาฝากทุกคนค่ะ เพื่อให้เพื่อน ๆ เตรียมตัวรับมือในการใช้เงินล่วงหน้า มาวางแผนเตรียมเก็บเงินแต่งงาน อย่างสบาย ๆ กันค่ะ

วิธี เตรียมเงินแต่งงาน

1. ตั้งงบไว้ ไม่ให้เกินตัว

การแต่งงาน ต้องมีการตั้งงบประมาณไว้ก่อน เพื่อให้คุณได้วางแผนล่วงหน้าซึ่งจะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้บานปลาย และทำให้คุณรู้ตัวว่าแต่ละเดือนทั้งคู่ต้องเก็บเงินเท่าไหร่ เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ต้องใช้เวลาเก็บเงินกี่ปี โดยอาจจะนั่งคิดคำนวณค่าใช้จ่ายไว้คร่าว ๆ ไม่ว่าจะเป็นกำหนดราคาชุดแต่งงานไม่ให้เกินงบเท่าไหร่ ค่าเช่าสถานที่ รวมถึงรายละเอียดยิบย่อยภายในงาน ซึ่งถ้าทำแบบนี้แล้ว คุณก็จะได้รู้ว่ารายจ่ายที่คุณจะต้องเจอนั้นประมาณไหน เพื่อที่จะวางแผนเก็บเงินได้อย่างถูกต้องนั้นเองค่ะ

2. แยกบัญชีเก็บเงินแต่งงานโดยเฉพาะ หรือ แบ่งความรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่าย

การเก็บเงินคือขั้นตอนที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้งานแต่งเกิดขึ้นได้

  • วิธีแรก เป็นวิธีที่ค่อนข้างยุ่งยาก แล้วแต่ความสะดวกใจของแต่ละคู่ บางคู่อาจแยกช่องทางการเก็บเงินโดยการเปิดบัญชีใหม่ขึ้นมา เช่น บัญชีออมทรัพย์ ใช้ลายเซ็นทั้งคู่ในการถอนเงินออกมา สำหรับเบิกถอนค่ามัดจำต่าง ๆ ในงานแต่ง
  • วิธีที่สอง ง่าย ๆ คือ ต่างคนต่างช่วยกันเก็บคนละส่วนไว้ในบัญชีส่วนตัว พูดง่าย ๆ คือ ต่างคนต่างจัดการค่าใช้จ่ายตามหน้าที่ที่คุยกัน หรือ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกทั้งหมดก็ได้ แล้วแต่ครอบครัวค่ะ แต่ละคู่ไม่เหมือนกัน

3. คอนเนคชั่นที่ดีก็มีผล

หลายคนพบว่า คอนเนคชั่นเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะช่วยลดต้นทุนในการจัดงานแต่งงาน หรือ ช่วยทำให้งานออกมาตรงตามความต้องการมากขึ้น เช่น มีเพื่อนที่แต่งหน้าทำผมสวย ก็สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ หรือ บางท่านอาจจะมีเพื่อนที่เป็นตากล้อง ตรงนี้อาจจะได้รูปภาพที่ตรงใจ แถมอาจจะจ้างได้ในราคามิตรภาพ หรือ บางท่านอาจมีเพื่อนที่เป็นเวดดิ้งออแกไนเซอร์ หรือ เวดดิ้งแพลนเนอร์ หรือ รับจัดดอกไม้งานแต่งงาน ก็อาจช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น

แต่สิ่งที่ควรระมัดระวัง คือ ควรจ่ายให้เพื่อนตามเรทราคาที่เพื่อนสะดวก ไม่ควรขอให้เพื่อนมาช่วยงานฟรี เพราะทุกอย่างมีต้นทุน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการเสียความรู้สึก หรือ เสียเพื่อนในอนาคตอีกด้วยค่ะ

4. งานแต่งงานนี้ เพื่อใคร? พ่อแม่ หรือ เรา?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ละครอบครัวมีความคาดหวังไม่เหมือนกัน สำหรับบางครอบครัวและบางตระกูล งานแต่งงานอาจเป็นความคาดหวังของคนหลายฝ่าย ไม่ใช่แต่เฉพาะเจ้าบ่าวเจ้าสาวอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับทางผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้อาจทำให้งบบานปลาย จึงเริ่มมีคนนิยม จัดงานหมั้นเช้า จัดงานเลี้ยงบ่าย เพื่อแยกกลุ่มแขกในงาน ให้งานเช้าเป็นงานที่ให้เกียรติผู้ใหญ่ให้มาเป็นสักขีพยาน ส่วนงานบ่ายก็เป็นงานที่เพื่อนของคู่บ่าวสาวได้ปาร์ตี้กันไปด้วยบรรยากาศที่เรียบง่ายแต่เป็นกันเอง ซึ่งหลายครั้งจะพบว่าการจัดงานแนวนี้ช่วยเซฟค่าใช้จ่ายไปเยอะเลยค่ะ

5. ญาติทำอาหารอร่อยก็ต้องปล่อยของ

ในข้อนี้ถ้าจะบอกว่าแม่เจ้าสาวทำอาหารอร่อยมาก แต่จะให้แม่ลงไปคุมครัวแบบนี้คงจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ เลยขอเสนอให้เป็นญาติ ๆ ของเรานี่แหละค่ะ เราอาจจะเสียแค่ค่าวัตถุดิบในการจัดสรรอาหารต่าง ๆ รวมถึงยังสามารถควบคุมรายจ่ายในส่วนนี้ได้ วิธีนี้เหมาะสำหรับการจัดงานแต่งงานที่บ้าน แต่มีข้อแม้เป็นคำเตือนจากประสบการณ์ของเราว่า ญาติที่ทำอาหารอาจจะไม่ได้มาร่วมงานนะคะ เพราะอาจจะต้องคุมงาน ทำอาหาร เตรียมอาหาร อุ่นอาหาร ดูจนแขกทานข้าวจบ ซึ่งส่วนใหญ่ทานข้าวจบก็จบงาน แปลว่าญาติท่านนั้นอาจไม่ได้แต่งตัวสวย ๆ มาร่วมงานค่ะ

6. จะเล็กจะใหญ่ก็ประทับใจได้

การจัดงานแต่งงานเล็ก ๆ หรือ จัดงานแต่งงานใหญ่ ๆ ล้วนขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้จัดงานค่ะ อย่างที่บอกในข้อ 4 คือบางท่านอาจมีความจำเป็นต้องจัดงานแต่งงานใหญ่ ๆ เพื่อแขกของพ่อแม่แต่ละฝ่าย แต่ในขณะเดียวกัน ในสมัยปัจจุบัน คู่รักบางท่านไม่ว่าจะมีหน้ามีตาทางสังคมหรือไม่มี ก็ไม่จำเป็นต้องจัดงานแต่งงานใหญ่ ๆ เสมอไป ค่อนข้างจะพูดได้มากขึ้นว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ท่านสามารถเลือกจัดงานแต่งงานเล็ก ๆ แบบอบอุ่น ใช้งบประมาณน้อยลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุยกับคุณพ่อคุณแม่ของแต่ละฝ่ายก่อนนะคะว่าท่านโอเคหรือเปล่า

เคล็ดลับการจัดงานแต่งงานอย่างประหยัด

สำหรับคู่รักที่มีงบประมาณจำกัด ในการจัดงานแต่งงาน อาจลดค่าใช้จ่ายในบางส่วนที่สามารถประหยัดได้ และ อย่านำเงินก้อนใหญ่เกินตัว ไปทุ่มเทกับการจัดงานแต่งงานครั้งเดียวจนหมด เพราะแม้ว่าการแต่งงานจะเป็นวาระสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตก็จริง แต่สิ่งที่ต้องเจอหลังจากการแต่งงานนั้นคือชีวิตจริงยิ่งกว่า ชีวิตหลังแต่งงานควรจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี ไม่ใช่การเริ่มต้นที่เป็นหนี้นะคะ

Report

What do you think?

0 Points
Upvote
แต่งงาน งบ 300,000 จัดงานแต่งงาน สวย ครบ ในงบสามแสน

แต่งงาน งบ 300,000 จัดงานแต่งงาน สวย ครบ ในงบสามแสน

15 สาเหตุที่ผู้หญิงนอกใจ

15 สาเหตุที่ผู้หญิงนอกใจ